ไทยและกัมพูชามุ่งหน้าสู่ยุคดิจิทัลไปด้วยกัน

ไทยและกัมพูชามุ่งหน้าสู่ยุคดิจิทัลไปด้วยกัน

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ก.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 5,338 view

ไทยและกัมพูชาพร้อมส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเติบโตอย่างครอบคลุม และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-๑๙
ในการสัมมนาออนไลน์ “Connecting Digital Opportunities between Thailand and Cambodia”

เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๔ กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดการสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ Connecting Digital Opportunities between Thailand and Cambodia เพื่อหารือแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับกัมพูชาในด้านเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเติบโตอย่างครอบคลุม (inclusive growth) และการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ
โรคโควิด-๑๙

การสัมมนาครั้งนี้มีวิทยากรจากทั้งภาครัฐและกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพจากไทยและกัมพูชาเข้าร่วม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้ม นโยบาย และพัฒนาการด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในทั้งสองประเทศ รวมทั้งเพื่อหารือความร่วมมือที่เป็นไปได้ในการเชื่อมโยงและการขยายโอกาสด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างสองประเทศ

ในการกล่าวเปิดการสัมมนา นางสาวอาจารี ศรีรัตนบัลล์ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก ย้ำความสำคัญของความร่วมมือระหว่างไทยกับกัมพูชาในการก้าวสู่ยุคดิจิทัลไปด้วยกัน และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและประชาชนของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและผู้ประกอบการรุ่นใหม่
ผ่านการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างระบบนิเวศด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของสองประเทศ

นายฮิเดอากิ อิวาซากิ ผู้อำนวยการสำนักงานผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชียประจำประเทศไทย กล่าวนำในการสัมมนาว่า แพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ จะเป็นปัจจัยสำคัญ
ในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในเอเชีย การส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำหนดนโยบายโดยอาศัยชุดข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data โดยเสนอว่า ไทยและกัมพูชาควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ โครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ ความเข้าใจและทักษะด้านดิจิทัล นโยบายการเก็บภาษีธุรกิจดิจิทัล และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความมั่นคงทางไซเบอร์
เพื่อส่งเสริมศักยภาพด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของสองประเทศ

วิทยากรจากภาคเอกชนต่างเล็งเห็นโอกาสจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจดิจิทัลในไทยและกัมพูชา โดยเฉพาะธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเกิดจากปัจจัย
เกื้อหนุน ได้แก่ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ทางเลือกในการชำระเงินที่มากขึ้น และการเกิดขึ้นของบริการขนส่งสินค้าจนถึงมือผู้รับปลายทางอย่างมีประสิทธิภาพ และเห็นว่า
การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลควรจะเป็นไปอย่างครอบคลุม เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้มีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์ นอกจากนั้น วิทยากรยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างไทยกับกัมพูชาให้มากขึ้น โดยผ่านการปรับกฎระเบียบให้สอดคล้องกัน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับภาษีธุรกิจดิจิทัล ภาษีศุลกากร และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งความสามารถในการทำงานร่วมกันของระบบต่าง ๆ (interoperability) โดยเฉพาะการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (digital ID) และกระบวนการในการรู้จักลูกค้า (Know Your Customer – KYC)

ดร. กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งประเทศไทย และ ดร. กง มารี ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชา ยังได้ให้ภาพรวมเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลในการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของสองประเทศ โดยเห็นพ้องว่าไทยและกัมพูชาควรสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือใกล้ที่ชิดยิ่งขึ้นในด้านเมืองอัจฉริยะ การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลและการแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยี การส่งเสริมความรู้และทักษะด้านดิจิทัลให้แก่ประชาชน การระดมทรัพยากร และโครงการต่าง ๆ เพื่อจับคู่ธุรกิจสตาร์ทอัพกับนักลงทุนโดยใช้ประโยชน์จากสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น (Digital Startup Institute) ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้ ดร. กง มารี ได้เสนอให้มีการจัดทำความตกลงทวิภาคีด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (bilateral digital economy agreement) ระหว่างไทยกับกัมพูชา เพื่อส่งเสริมความสามารถในการทำงานร่วมกันของระบบและมาตรฐานต่าง ๆ รวมทั้งเพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจร่วมกันระหว่าง
ผู้ประกอบการของสองประเทศ

นายอูก ซอพวน เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย กล่าวปิดการสัมมนาว่า ไทยและกัมพูชาควรร่วมมือกันในการลดช่องว่างด้านดิจิทัลระหว่างสองประเทศ
การส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐบาลกับภาคธุรกิจ และการเสริมสร้างโอกาสให้ธุรกิจขนาดเล็กและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ด้วยการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพ
ด้านดิจิทัล

สำหรับผลการสัมมนาและข้อเสนอแนะข้างต้นจะมีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC) ไทย - กัมพูชา ครั้งต่อไปในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งจะมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยและกัมพูชาเป็นประธานร่วม