รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-แคนาดา ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยย้ำความร่วมมือในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน พร้อมผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นแนวทางการฟื้นฟูจากโควิด-๑๙
เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-แคนาดา ผ่านระบบการประชุมทางไกล ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๕๔ และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องโดยการประชุมดังกล่าว มีนาย Marc Garneau รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแคนาดาเป็นประธานร่วมกับฝ่ายเมียนมา ในฐานะที่เมียนมาเป็นประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-แคนาดา
ที่ประชุมฯ หารือแนวทางการขับเคลื่อนความสัมพันธ์อาเซียน-แคนาดาเพื่อส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค โดยมีประเด็นสำคัญคือความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูจากโควิด-๑๙ ซึ่งแคนาดาจะสนับสนุนเงินจำนวน ๓.๕ ล้านดอลลาร์แคนาดา (ประมาณ ๙๒ ล้านบาท) ให้แก่กองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้ผลักดันประเด็นความร่วมมือที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน อาทิ การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ ความมั่นคงทางไซเบอร์ การค้าการลงทุน โดยเฉพาะการพัฒนา MSMEs การส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค ความเท่าเทียมระหว่างเพศและสิทธิสตรี วาระสตรี สันติภาพและความมั่นคง การบริหารจัดการและบรรเทาภัยพิบัติ ประเด็นแรงงานข้ามชาติ และการศึกษา ตลอดจนได้แลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยแคนาดายืนยันที่จะสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน และหลักการภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก นอกจากนี้ แคนาดาได้เสนอจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-แคนาดาในปี ๒๕๖๕ ในโอกาสครบรอบ ๔๕ ปีความสัมพันธ์อาเซียน-แคนาดา
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเน้นย้ำว่าอาเซียนและแคนาดาเป็นหุ้นส่วนที่มีแนวคิดและค่านิยมสอดคล้องกัน โดยเฉพาะการยึดมั่นในระบบพหุภาคีนิยม และเสนอแนวทางผลักดันความร่วมมือระหว่างกันเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูจากโควิด-๑๙ ได้แก่ (๑) การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน โดยสนับสนุนการเปิดการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา การพัฒนาขีดความสามารถด้านดิจิทัลของผู้ประกอบการ MSMEs และการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการพัฒนานวัตกรรมของผู้ประกอบการสตรี และ (๒) การปรับกระบวนทัศน์สู่การพัฒนาสีเขียว โดยเสนอโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นแนวทางการดำเนินการ และศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเวทีขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำด้วยว่า การสร้างบรรยากาศของความเชื่อมั่นและความไว้วางใจซึ่งกันและกันในภูมิภาคเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-๑๙
ในโอกาสนี้ เมียนมาในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-แคนาดาได้ส่งมอบหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานฯ ให้แก่มาเลเซีย ซึ่งจะปฏิบัติหน้าที่ในวาระปี ค.ศ. ๒๐๒๑-๒๐๒๔ ต่อไป