ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศผลักดันความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหพันธรัฐรัสเซีย

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศผลักดันความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหพันธรัฐรัสเซีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ส.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 6,172 view
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหพันธรัฐรัสเซีย โดยได้ผลักดันความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านวัคซีนและเศรษฐกิจ BCG รวมทั้งพลังงานทางเลือก
 
เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๔ นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหพันธรัฐรัสเซีย ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๕๔ และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีนาย Mahendra Siregar รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-รัสเซียเป็นประธานการประชุมร่วมกับนาย Igor Morgulov รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย
 
ที่ประชุมฯ ได้หารือเกี่ยวกับความคืบหน้าความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับรัสเซียในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในทุกมิติ เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย ครั้งที่ ๔ ในโอกาสครบรอบ ๒๕ ปีของความสัมพันธ์อาเซียน-รัสเซีย ในปี ๒๕๖๔ ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงการประชุมสุดอาเซียน ครั้งที่ ๓๘ และ ๓๙ ในเดือนตุลาคม ๒๕๖๔ 
 
ที่ประชุมฯ ยังชื่นชมบทบาทที่แข็งขันของรัสเซียในกลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำเพื่อส่งเสริมสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา
 
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวสนับสนุนให้รัสเซียส่งเสริมความร่วมมือที่สอดคล้องกับสาขาความร่วมมือที่ระบุในมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (AOIP) และแสดงความยินดีต่อข้อเสนอของรัสเซียในการประกาศให้ปี ๒๕๖๕ เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมอาเซียน-รัสเซีย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่รัสเซียมีความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีน รวมถึงความร่วมมือภายใต้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) อาทิ ความร่วมมือด้านพลังงานทางเลือก

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ