การจัดประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย – ญี่ปุ่น (Thailand – Japan High Level Joint Commission: HLJC) ครั้งที่ ๕

การจัดประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย – ญี่ปุ่น (Thailand – Japan High Level Joint Commission: HLJC) ครั้งที่ ๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ส.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 7,556 view

ในวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายโมเทกิ โทชิมิตสึ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นจะเป็นประธานร่วมในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย - ญี่ปุ่น (Thailand – Japan High Level Joint Commission: HLJC) ครั้งที่ ๕ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของทั้งฝ่ายไทยและญี่ปุ่นเข้าร่วมด้วย รวมถึงนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายคุมาดะ ฮิโรมิจิ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารญี่ปุ่น นายนากาซากะ ยาซูมาสะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น นายวาตานาเบะ ทาเคยูกิ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวญี่ปุ่น และผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานอื่น ๆ

การประชุม HLJC เป็นกลไกการประชุมระดับสูงระหว่างไทยกับญี่ปุ่นเพื่อหารือเชิงนโยบายในการกำหนดทิศทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๘ ระหว่างนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กับนายซูกะ โยชิฮิเดะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นในขณะนั้น (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น) โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมจัดการประชุมกันแล้ว ๔ ครั้ง

ในโอกาสที่จะมีการประชุม HLJC ครั้งที่ ๕ นี้ นายซูกะ โยชิฮิเดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในฐานะผู้ก่อตั้งร่วมและอดีตประธานร่วมของกลไก HLJC ได้มีข้อความพิเศษแก่ที่ประชุม ดังนี้ “ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงญี่ปุ่น - ไทย ครั้งที่ ๕ จัดขึ้นโดยประธานร่วมคนใหม่ของทั้งสองฝ่าย ได้แก่ นายโมเทกิ โทชิมิทสึ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ผมหวังว่าท่ามกลางความท้าทายร่วมกันจากสถานการณ์การโควิด-๑๙ ที่ญี่ปุ่นและไทยต่างเผชิญอยู่ ทั้งสองฝ่ายจะได้หารือกันอย่างเข้มข้นเป็นรูปธรรมเพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูให้กลับมาเข้มแข็งขึ้นกว่าเดิมและเดินหน้าความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นและประเทศไทยต่อไป"

ในการประชุมดังกล่าวประธานร่วมและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายมีกำหนดที่จะหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) อย่างยั่งยืน ใน ๓ ประเด็นสำคัญ ได้แก่ (๑) การสอดประสานความร่วมมือระหว่างโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ - เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ของไทยกับยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียวของญี่ปุ่น (๒) ความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การพัฒนาอุตสาหกรรม และการส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และ (๓) ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยง การพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และสาธารณสุข

นอกจากนี้ ไทยและญี่ปุ่นจะมีการลงนามความตกลง ๔ ฉบับ ซึ่งจะเป็นหนึ่งในผลลัพธ์สำคัญของการประชุมครั้งนี้ด้วย ได้แก่
(๑) บันทึกความร่วมมือด้านไปรษณีย์ ระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทยกับกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างช่องทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลยกระดับคุณภาพระบบการให้บริการด้านไปรษณีย์ระหว่างสองประเทศ

(๒) บันทึกความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงอุตสาหกรรมของไทย กับสำนักงานนโยบายสาธารณสุข สำนักงานเลขาคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการญี่ปุ่น และกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในสาขาการดูแลสุขภาพ ซึ่งจะเป็นกรอบในการดำเนินความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยเฉพาะในด้านการแพทย์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข วัคซีน อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ การดูแลสุขภาพถ้วนหน้า และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านการแพทย์

(๓) บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับองค์กรพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO) ซึ่งจะเป็นกรอบในการเสริมสร้างความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในสาขาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการสอดประสานโมเดลเศรษฐกิจ BCG Economy ของไทยกับยุทธศาสตร์ Green Growth ของญี่ปุ่น

(๔) บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือโครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Lean IoT ในการบริหารจัดการโรงงานเพื่อผลิตภาพ (Lean IoT Plant management and Execution – LIPE) ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย กับกรมนโยบายการค้า และกรมความร่วมมือการค้าและเศรษฐกิจ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นกรอบความร่วมมือในการเสริมสร้างความพร้อมเพื่อเปลี่ยนผ่านโครงสร้างการผลิตในด้านอุตสาหกรรมไปสู่การผลิตภายใต้โรงงานอัจฉริยะที่ทันสมัยผ่านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การใช้เทคโนโลยี IoT และการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ

กระทรวงการต่างประเทศในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมฯ จะถ่ายทอดสดการประชุมในช่วงการกล่าวเปิดงานและพิธีลงนามความตกลงระหว่างหน่วยงานไทยและญี่ปุ่นให้สื่อมวลชนและผู้ที่สนใจเข้าชม ในช่วงเวลา ๑๑.๐๐ - ๑๑.๑๔ น. ตามเวลาประเทศไทย ทาง Facebook Live ของกระทรวงการต่างประเทศ (http://www.facebook.com/ThaiMFA) โดยจะมีการดำเนินการประชุมเป็นภาษาไทยและภาษาญี่ปุ่น