สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์
วันพุธที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๓๐ น.
ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ
๑. การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย – ญี่ปุ่น (Thailand – Japan High Level Joint Commission: HLJC) ครั้งที่ ๕ ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๔
- เป็นกลไกการประชุมระดับสูงเพื่อหารือเชิงนโยบายเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น เป็นประธานร่วม และฝ่ายไทยยังมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม และผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม
- ทั้งสองฝ่ายความร่วมมือการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ได้แก่ (๑) การสอดประสานความร่วมมือระหว่างโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ - เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ของไทยกับยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียวของญี่ปุ่น (๒) ความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การพัฒนาอุตสาหกรรม และการส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และ (๓) ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยง การพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และสาธารณสุข
- มีการลงนามความตกลงร่วมกัน ๔ ฉบับ ได้แก่ (๑) บันทึกความร่วมมือด้านสาธารณสุข
รวมทั้งด้านวัคซีน อุตสาหกรรมเครื่องมือ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านการแพทย์
(๒) บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี โดยสอดประสานโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทยกับยุทธศาสตร์ Green Growth ของญี่ปุ่น (๓) บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือโครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Lean Internet of Things (IoT) ในการบริหารจัดการโรงงานเพื่อผลิตภาพ เพื่อส่งเสริมการผลิตภายใต้โรงงานอัจฉริยะที่ทันสมัยโดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยี Lean IoT และ (๔) บันทึกความร่วมมือด้านไปรษณีย์ เพื่อเป็นยกระดับคุณภาพระบบการให้บริการด้านไปรษณีย์ระหว่างไทย – ญี่ปุ่น
๒. ความช่วยเหลือของประเทศไทยในด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมา
- ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ ๕๔ เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำความสำคัญและความเร่งด่วน
ในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับเมียนมา โดยเสนอให้สำนักเลขาธิการอาเซียนและ ศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (AHA Centre) จัดการประชุมประเทศ
ผู้บริจาค หรือ Pledging Conference to Support ASEAN’s Humanitarian Assistance to Myanmar เพื่อระดมการสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าจัดขึ้นภายในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔ และรัฐบาลไทยพร้อมสมทบเงินสนับสนุน
- ไทยกำลังเตรียมสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ตามที่ฝ่ายเมียนมาแจ้งความประสงค์ ในวงเงิน
๕ ล้านบาท ผ่านคลังเก็บสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยของอาเซียนในประเทศไทย (DELSA) ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดชัยนาท
- ที่ผ่านมา ไทยได้ให้ความช่วยเหลือเมียนมาในการรับมือกับโควิด-๑๙ อย่างต่อเนื่อง ทั้งการมอบเงินบริจาค ๕ ล้านบาทผ่านสภากาชาดไทยและสภากาชาดเมียนมา และการดำเนินงานของ
กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ อาทิ การสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์และห้องปฏิบัติการ ให้แก่ National Health Laboratory กรุงย่างกุ้ง และโรงพยาบาลหลายแห่งตามแนวชายแดนไทย – เมียนมา รวมมูลค่ากว่า ๒๔ ล้านบาท
๓. ผลการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนาง Linda Thomas-Greenfield เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๔
- เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีในช่วงเช้าของวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๔
- เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๔ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ได้พบหารือกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยได้ย้ำความมุ่งมั่นของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะฟื้นฟูปฏิสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรในภูมิภาค และทั้งสองฝ่ายได้หารือการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด ๑๙ และเห็นพ้องถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและสาธารณสุขแก่ประชาชนเมียนมา โดยสหรัฐฯ ให้ความสำคัญและสนับสนุนบทบาทของไทยในเรื่องนี้
- นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมการบริการฉีดวัคซีนแก่บุคลากรทางการแพทย์ และรับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์ด้านสาธารณสุขบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา
ณ โรงพยาบาล MedPark โดยมีอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ และรองอธิบดีกรมควบคุมโรคให้การต้อนรับ ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ได้แถลงข่าว สรุปใจความสำคัญ ดังนี้
- ย้ำความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ที่จะรักษาและส่งเสริมความสัมพันธ์กับไทย ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ความเป็นพันธมิตรทางทหารไปจนถึงความร่วมมือด้านสาธารณสุข
- ย้ำนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะให้ความช่วยเหลือวัคซีนแก่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวม ๕๐๐ ล้านโดส โดยไม่มีเงื่อนไข (no strings attached) รวมถึงวัคซีน ๑.๕ ล้านโดส
ที่มอบให้แก่ไทยเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม และจะมอบให้ไทยเพิ่มเติมอีก ๑ ล้านโดส และ
- ประกาศว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะมอบความช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก ๕๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบด้วย ๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยเหลือประเทศไทยในการรับมือโควิด-๑๙ และ ๕๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่กลุ่มเปราะบางตามแนวชายแดนไทย - เมียนมา
๔. การฉีดวัคซีนให้ชาวต่างชาติในไทย
- ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ ที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมการกงสุล ได้เริ่มเปิดให้ชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทย ทุกกลุ่มอายุ และทุกจังหวัด ลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีนตามหลักเกณฑ์ความจำเป็นเร่งด่วนเดียวกับของคนไทยทางเว็บไซต์ consular.go.th มีชาวต่างชาติลงทะเบียนเพื่อขอรับการฉีดวัคซีนผ่านเว็บไซต์ดังกล่าวแล้ว ๔๗,๖๒๖ ประกอบด้วย ผู้มีอายุต่ำกว่า ๖๐ ปี ๓๗,๓๕๘ คน ผู้มีอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป ๑๐,๒๖๘ คน สตรีมีครรภ์ ๒๐๔ คน และผู้มีโรคประจำตัว ๗ กลุ่มโรคเสี่ยง ๓,๔๖๒ คน (สถานะ ณ วันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๔ ๑๕.๐๐ น.)
- กรมการกงสุลได้ส่งรายชื่อชาวต่างชาติที่ลงทะเบียนผ่านระบบดังกล่าวและผ่านเกณฑ์คัดกรองเบื้องต้นให้แก่กรมควบคุมโรคแล้ว ๒๙,๓๑๔ คน โดยกระทรวงสาธารณสุขหรือศูนย์ฉีดวัคซีนจะแจ้งให้นัดหมายการฉีดวัคซีนตามความจำเป็นเร่งด่วนและในจังหวัดที่พำนักอาศัยต่อไป
- การฉีดวัคซีนให้แก่ชาวต่างชาติในไทยผ่านกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ และโรงพยาบาลต่าง ๆ มีจำนวนทั้งสิ้น ๒๘๐,๐๘๕ คน (สถานะถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๔) ครอบคลุมชาวต่างชาติกลุ่มต่าง ๆ อาทิ กลุ่มชาวต่างชาติที่อาศัยในไทย (expats) คณะทูตานุทูต บุคคลในองค์การระหว่างประเทศ นักธุรกิจ สื่อมวลชน และกลุ่มแรงงาน โดยในจำนวนนี้เป็นผู้มีอายุ
๖๐ ปีขึ้นไป ๒๐,๙๐๓ คน
English version
Updates on COVID-19 vaccination for foreign residents in Thailand
- Since 1 August 2021, Department of Consular Affairs, Ministry of Foreign Affairs launched a new website: expatvac.consular.go.th for foreign residents of all age groups nationwide to register for the first dose of COVID-19 vaccination on 1 August 2021, the accumulated number of foreign residents registered (as of 10 August 2021 at 15.00 hrs.) is 47,626 persons, 37,358 of which are under 60 years old, 10,268 from 60 years old and over, 143 are pregnant women and 3,462 in 7-disease health condition groups.
- The Ministry of Foreign Affairs, in coordination with the Ministry of Public Health, will continue to arrange vaccination for those who registered in accordance with priority criteria similar to those for Thai nationals. The registered foreign residents will be notified of the date and vaccination site in accordance to their priorities and residences via SMS or email.
๕. ผลการประชุมเวทีระหว่างประเทศครั้งแรกว่าด้วยความร่วมมือวัคซีนโควิด-๑๙ (First Meeting of the International Forum on COVID-19 Vaccine Cooperation) เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๔
- เป็นข้อริเริ่มของจีน โดยมีมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนเป็นประธาน และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมและได้ (๑) ย้ำว่าวัคซีนโควิด-๑๙ เป็นสิ่งจำเป็นทางมนุษยธรรม และเรียกร้องให้ประเทศที่มีวัคซีนส่วนเกินสนับสนุนวัคซีนโควิด-๑๙ ผ่านช่องทางทวิภาคีและพหุภาคีรวมถึง COVAX Facility ขององค์การสหประชาชาติ (๒) ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-๑๙ โดยบริษัทผลิตวัคซีนและสถาบันการเงินเพื่อเพิ่มอุปทานวัคซีน และ (๓) ผลักดันแนวทางเตรียมความพร้อมและการรับมือกับโรคระบาดในอนาคต
- ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการเร่งพัฒนาวัคซีนโควิด-๑๙ ให้ทันกับการกลายพันธุ์ของโควิด-๑๙
ผ่านการวิจัยและพัฒนาร่วมกัน การสนับสนุนให้มีการหารือการยกเว้นสิทธิบัตรทางปัญญาของวัคซีนโควิด-๑๙ ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) รวมถึงให้วัคซีนโควิด-๑๙ เป็นสินค้าสาธารณะของโลก (global public goods) ที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ตลอดจนเรียกร้องให้ส่งเสริม
ความร่วมมือระหว่างประเทศยิ่งขึ้นในการรับมือกับโควิด-๑๙ รวมทั้งการไม่เลือกปฏิบัติการอนุมัติวัคซีนโควิด-๑๙ ชนิดต่าง ๆ สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ โดยควรใช้มาตรฐานของ
องค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นหลัก
๖. ประชาสัมพันธ์
๖.๑ กิจกรรม“บัวแก้วปันน้ำใจ สู้ภัยโควิด-๑๙”ของกระทรวงการต่างประเทศ
- กระทรวงการต่างประเทศได้จัดกิจกรรมช่วยเหลือชุมชนต่าง ๆและผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจาก โควิด-๑๙ ภายใต้โครงการ“บัวแก้วปันน้ำใจ สู้ภัยโควิด-๑๙” นำโดยนายเชิดเกียรติ อัตถากร
รองปลัดกระทรวงฯ นอกจากนี้ หน่วยงานภายในกระทรวงฯ ได้ร่วมใจจัดกิจกรรมดังกล่าวอย่างพร้อมเพรียง ทั้งกรมสารนิเทศ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมการกงสุล กรมอาเซียน กรมยุโรป และกรมองค์การระหว่างประเทศ
๖.๒ รายการบันทึกสถานการณ์ สัมภาษณ์นางจุฬามณี ชาติสุวรรณ อธิบดีกรมยุโรป หัวข้อ “การเยือนไทยของนาย Ignazio Cassis รองประธานาธิบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์” ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. ทาง FM 92.5 และ Facebook “สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย”
๖.๓ รายการ “MFA Update” สัมภาษณ์โฆษกกระทรวงการต่างประเทศและอธิบดีกรมสารนิเทศ เรื่อง "Vaccination for Foreign Residents in Thailand” ในวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๔
เวลา ๐๘.๐๕ น. ทาง Facebook “FM 88 Radio Thailand English”
๖.๔ รายการ Spokesman Live!!! สัมภาษณ์พิเศษเรืออากาศตรีหญิง พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ
(น้องเทนนิส) นักเทควันโดหญิงทีมชาติไทย เจ้าของเหรียญทองจากโอลิมปิก หัวข้อ “เส้นทางความฝัน “น้องเทนนิส” เยาวชนคนเก่ง คว้าชัยเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์โตเกียว ๒๐๒๐” รวมทั้งความประทับใจของสถานเอกอัครราชทูตในการให้การต้อนรับนักกีฬาไทย ดำเนินรายการโดยนางสาวชาคริยา ชีวัตร นักการทูตปฏิบัติการ และนางสาวพรรษา บุณยะกลัมพ ในวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๕.๓๐ - ๑๖.๐๐ น. ทาง Facebook “กระทรวงการต่างประเทศ” และ “Saranrom Radio”
๗. ช่วงถาม-ตอบ: การให้บริการทำหนังสือเดินทางและรับรองเอกสารของกรมการกงสุลและสำนักงานหนังสือเดินทางในต่างจังหวัดในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙
- กรมการกงสุลได้ปรับการให้บริการให้สอดคล้องมาตรการของ ศบค. ในการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-๑๙ โดยจะให้บริการเฉพาะกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่นัดหมายล่วงหน้า สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ทางหมายเลขโทรศัพท์ ๐๘๐ ๙๑๓ ๒๒๗๘ และ ๐๙๓ ๐๑๐ ๕๒๔๘ (จันทร์-ศุกร์ ยกเว้นวันหยุดราชการ) หรืออีเมล์ [email protected]
* * * * *
รับชมย้อนหลัง https://www.facebook.com/ThaiMFA/videos/383988989779373/?vh=e&extid=0&d=n