ไทยและภูฏานเน้นย้ำความร่วมมือด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการรับมือกับสถานการณ์โควิด-๑๙ ในระหว่างการประชุมโต๊ะกรมระหว่างประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือแก่ภูฏาน ครั้งที่ ๑๕

ไทยและภูฏานเน้นย้ำความร่วมมือด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการรับมือกับสถานการณ์โควิด-๑๙ ในระหว่างการประชุมโต๊ะกรมระหว่างประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือแก่ภูฏาน ครั้งที่ ๑๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 ก.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 5,651 view

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศภูฏาน ถึงแนวทางส่งเสริม
ความร่วมมือด้านการพัฒนาเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่อย่างยืน และการรับมือสถานการณ์โควิด-๑๙ ในการประชุมโต๊ะกลมระหว่างประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือแก่ภูฏาน (Round Table Meeting) ครั้งที่ ๑๕ ผ่านระบบประชุมทางไกล

เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๔ นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนประเทศไทย ได้เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมระหว่างประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือแก่ภูฏาน (Round Table Meeting) ครั้งที่ ๑๕ ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงทิมพู ผ่านระบบประชุมทางไกล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศภูฏาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังภูฏาน ซึ่งดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness (GNH) Commission) ร่วมกันเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม และมีผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลภูฏาน ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ เอกอัครราชทูต
ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคม เข้าร่วมกว่า ๒๐๐ คน

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงฯ ได้กล่าวถ้อยแถลงขอบคุณรัฐบาลภูฏานที่ได้มอบวัคซีนต้านโควิด-๑๙ เพื่อช่วยเหลือประเทศไทยในการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาด จำนวน ๑๕๐,๐๐๐ โดส บนพื้นฐานที่ไทยจะคืนวัคซีนฯ แก่ภูฏานในอนาคต และย้ำเจตนารมณ์ของไทยที่ให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแก่ภูฏานมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้
ความสำคัญกับแผนการพัฒนาประเทศ ระยะ ๕ ปี ฉบับที่ ๑๒ (ค.ศ. ๒๐๑๙–๒๐๒๓ หรือ พ.ศ. ๒๕๖๒–๒๕๖๖) และความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness: GNH) ของภูฏาน ที่มุ่งเน้นการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ผ่านการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีและประสบการณ์การพัฒนาของสองประเทศ โดยเฉพาะหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy: SEP) ของไทย ที่เกื้อกูลกัน รวมทั้งยืนยัน
ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของ (๑) โครงการส่งเสริมด้านการเกษตรโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ One Gewog One Product (OGOP) ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการขยายผลในระยะที่ ๒ และ (๒) โครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย (Friends From Thailand: FFT) ที่ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง FFT ของไทยได้รับคัดเลือกเป็นโครงการที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดีในการบรรลุ SDGs จากสำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Department of Economic and Social Affairs : UN DESA) และไทยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และการพัฒนาประเทศภายหลังสถานการณ์ฯ คลี่คลาย โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างความมั่นคงและภูมิคุ้มกันใน ๔ ด้านที่เป็นจุดแข็งของไทย ได้แก่ ความมั่นคง ด้านสาธารณสุข ความมั่นคงด้านอาหาร ความมั่นคง
ด้านอาชีพ และความมั่นคงด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ผนวกกับการพัฒนาโดยใช้ SEP และการผสมผสานของการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ - เศรษฐกิจหมุนเวียน -
เศรษฐกิจสีเขียว (โมเดลเศรษฐกิจ BCG) ผ่านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ภายใต้กรอบความร่วมมือทวิภาคี และไตรภาคี และไทยยังมุ่งหวังที่จะร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับภูมิภาคโดยเฉพาะกรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) ที่ไทยจะเป็นประธานในปี ๒๕๖๕ รวมทั้งเน้นย้ำการสนับสนุนของไทยและแสดงความยินดีต่อ
ความก้าวหน้าของรัฐบาลภูฏานในการหลุดพ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Country - LDC) ที่น่าจะเกิดขึ้นได้ภายในปี ๒๕๖๖ นี้

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ