คำกล่าวนายกรัฐมนตรี
การประชุมระดับสูง (High Level Meeting)
ในช่วงการประชุมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (BRF) ครั้งที่ ๒
วันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๖๒ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
ฯพณฯ ทั้งหลาย / แขกผู้มีเกียรติทุกท่านครับ
-
ในนามของประธานอาเซียนในปีนี้ ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางที่กรุงปักกิ่งในครั้งนี้ และขอขอบคุณรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ได้ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น
-
อาเซียนและไทยมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีนมายาวนาน จึงรู้สึกชื่นชมและยินดีที่ได้เห็นจีนพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดจนกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเอเชียและของโลก ผมมีความยินดีอย่างยิ่งที่ท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับจีน ผมขอเรียนว่า ไทยในฐานะประธานอาเซียนมีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนความสัมพันธ์ที่สำคัญนี้ให้ก้าวหน้าต่อไปภายใต้แนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน”
-
ผมเห็นว่า BRI เป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะกำหนดทิศทางการพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ของโลกต่อไป เพราะเรามองว่า BRI สอดคล้องกับเป้าหมายและหลักการของอาเซียนและประเทศในภูมิภาค ดังนี้
-
ประการแรก ผมเชื่อว่า ยุทธศาสตร์ BRI จะเป็นอีกหนึ่งกลไกในการช่วยส่งเสริมความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์เพื่อความเจริญรุ่งเรือง สันติภาพและอนาคตร่วมกัน (prosperous and peaceful world with shared future) ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่กำลังค่อย ๆ ฟื้นตัว ผมเห็นพ้องถึงความจำเป็นที่พวกเราต้องร่วมมือกันรักษาและส่งเสริมบรรยากาศแห่งสันติภาพและความร่วมมือทั้งในระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาคและโลก เพราะการพัฒนาและความมั่งคั่งคงจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีสันติภาพและเสถียรภาพ
-
ผมยินดีที่ประเทศที่ร่วมสนับสนุนและมีส่วนร่วมในยุทธศาสตร์ BRI ต่างยึดมั่นในหลักการของความร่วมมือที่เปิดกว้างและครอบคลุม (open and inclusive) อย่างสร้างสรรค์และฉันมิตร ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พวกเราจะร่วมมือบนหลักการสามเอ็ม (3Ms) ของอาเซียน กล่าวคือ การไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน (mutual trust) ความเคารพซึ่งกันและกัน (mutual respect) และผลประโยชน์ร่วมกัน (mutual benefit) ซึ่งเป็นหนึ่งในเจตนารมณ์ของสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) ที่อาเซียน จีน และอีกหลายประเทศเป็นภาคี
-
ขณะเดียวกัน ผมก็มีความยินดีที่พวกเราต่างส่งเสริมและให้ความสำคัญต่อหลักการของความเท่าเทียมกันและการเคารพกฎระเบียบพหุภาคี ผมขอถือโอกาสนี้ยืนยันว่า ไทยจะยังคงมุ่งสร้างความร่วมมือกับหุ้นส่วนทั้งในและนอกภูมิภาค บนพื้นฐานของความโปร่งใสและผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของ BRI ด้วย
-
ประการที่สอง ประเทศไทยและอาเซียนเห็นว่า “การเชื่อมโยง” เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนและการบรรลุ SDGs ดังนั้น เราจึงต้องเร่งรัดความร่วมมือต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเชื่อมโยงทั้ง ๔ ด้าน ได้แก่ ความเชื่อมโยงทางกายภาพ กฎระเบียบ ดิจิทัล และประชาชนให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
-
ด้านกายภาพ ไทยและอาเซียนเล็งเห็นความสำคัญของการเชื่อมต่ออาเซียนสู่โลกผ่าน BRI โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทาง NSEC เพื่อเชื่อมโยงอาเซียนกับจีนตอนใต้สู่ภูมิภาคเอเชียกลางและยุโรปผ่านโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และโครงการพัฒนารถไฟทางคู่เชื่อมโยงจีน-ลาว-ไทย-กัมพูชา รวมทั้งการพัฒนาเส้นทาง EWEC เชื่อมต่ออาเซียนกับภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกาผ่านมหาสมุทรอินเดีย และเชื่อมต่ออาเซียนกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกตามเส้นทางหมายเลข ๙ (R9)
-
นอกจากนี้ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC จะเป็นหนึ่งในโครงการแม่แบบในการสร้างฐานเพื่อเชื่อมโยงไทยกับประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคใกล้เคียงทั้งทางบก อากาศ น้ำและทางราง ในรูปแบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) อีกทั้งไทยยังร่วมกับอาเซียน ในการขับเคลื่อนแม่บทของอาเซียนว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (MPAC 2025) และแผนแม่บท ACMECS Master Plan ปี ค.ศ. ๒๐๑๙-๒๐๒๓ จึงขอเชิญชวนจีนให้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของ ACMECs เพื่อขับเคลื่อน BRI ในอาเซียนและการส่งเสริมแนวคิด “การเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยง” หรือ “Connecting the Connectivities”
-
ด้านกฎระเบียบ การส่งเสริม “ความเชื่อมโยงทางการค้า” โดยการเร่งรัดการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ที่ไทยตั้งเป้าที่จะผลักดันให้ได้ข้อสรุปภายในปีนี้ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จาก ASEAN Single Window
-
ด้านดิจิทัล การใช้ประโยชน์จากดิจิทัล โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและสร้างโอกาสให้ชุมชนห่างไกล ชุมชนด้อยโอกาสต่าง ๆ ไทยจึงยินดีที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมสนใจจะร่วมมือกับจีนและฮ่องกงในโครงการเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกระบบใหม่
-
ด้านประชาชน ผมเชื่อมั่นว่ายุทธศาสตร์ BRI จะช่วยส่งเสริมความมั่งคั่งที่ยั่งยืนและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งผมถือเป็นยุทธศาสตร์ที่ไทยต้องเร่งดำเนินการเพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ เพื่อให้ “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ของการพัฒนา ในเรื่องนี้ เราควรมุ่งดำเนินตามยุทธศาสตร์ BRI โดยไทยให้ความสำคัญต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพซึ่งโปร่งใส เปิดกว้างและครอบคลุม (transparent, open and inclusive) และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
-
ประการสุดท้าย เราควรร่วมกันจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ BRI ที่สอดคล้องกับมาตรฐานและความต้องการของพลเมืองของเรา ซึ่งอาจเป็นรูปแบบของกองทุนสำหรับการพัฒนาเป็นการเฉพาะ ซึ่งในส่วนของอาเซียนนั้น ผมยินดีที่ที่ประชุมรัฐมนตรีคลังของอาเซียนได้มีดำริเกี่ยวกับการส่งเสริมแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน (Green Infrastructure Financing) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบพื้นฐานที่ยั่งยืน
ฯพณฯ ทั้งหลาย /แขกผู้มีเกียรติทุกท่านครับ
-
ที่ผมได้กล่าวข้างต้น คงจะชัดเจนแล้วว่า ไทยต้องการเห็นยุทธศาสตร์ BRI ประสบความสำเร็จ และต้องการเห็นไทย อาเซียน จีนและมิตรประเทศทุกประเทศ ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด อย่างฉันมิตร และอย่างสร้างสรรค์ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อสันติภาพของภูมิภาคและของโลก และเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของพลเมืองของเราโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
-
ขอบคุณครับ
--------------------------------