คำกล่าวนายกรัฐมนตรี การประชุมผู้นำโต๊ะกลม (Leaders’ Roundtable) Session I: Boosting Connectivity to Explore New Sources of Growth ในช่วงการประชุมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (BRF) ครั้งที่ ๒ วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๒ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

คำกล่าวนายกรัฐมนตรี การประชุมผู้นำโต๊ะกลม (Leaders’ Roundtable) Session I: Boosting Connectivity to Explore New Sources of Growth ในช่วงการประชุมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (BRF) ครั้งที่ ๒ วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๒ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 เม.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,201 view

คำกล่าวนายกรัฐมนตรี

การประชุมผู้นำโต๊ะกลม (Leaders’ Roundtable) 

Session I: Boosting Connectivity to Explore New Sources of Growth

ในช่วงการประชุมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (BRF) ครั้งที่ ๒ 

วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๒ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน 


 

ท่านประธานาธิบดี / ฯพณฯ ทั้งหลายครับ

  • ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เดินทางมาร่วมการประชุมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (BRF) ครั้งที่ ๒ ในวันนี้ และขอขอบคุณรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ได้ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น
  • ในนามของรัฐบาลและประชาชนชาวไทย ผมขอแสดงความยินดีต่อท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และประชาชนชาวจีนในโอกาสครบรอบ ๗๐ ปี แห่งการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในปีนี้
  • ผมขอแสดงความชื่นชมต่อวิสัยทัศน์ของท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ได้ริเริ่มยุทธศาสตร์ BRI ซึ่งไทยจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่จะช่วยส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคและโลก ส่งเสริมการเชื่อมโยง การพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าโลก ตลอดจนส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์ที่ทุกฝ่ายจะได้รับร่วมกัน 
  • ผมมีความประทับใจที่ BRI มีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว มีผู้เข้าร่วมสนับสนุนจำนวนมาก และมีความครอบคลุมในทุกมิติของการพัฒนา ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุมนั้นต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและสามารถเชื่อมโยงทั้งภายในและภายนอกเพื่อขยายความครอบคลุมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกไปให้ได้ประโยชน์สูงสุด
  • ในส่วนของไทย เราให้ความสำคัญกับการขยายความเชื่อมโยงของอาเซียนกับภูมิภาคและโลก ทั้งทางกายภาพ กฎระเบียบ ดิจิทัล และประชาชน ผ่านกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ทั้ง GMS ACMECS MLC IMT-GT BIMSTEC และ APEC ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว 
  • เราอยู่ระหว่างเร่งรัดการดำเนินการเพื่อยกระดับความเชื่อมโยงทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งภายในประเทศและเชื่อมกับภูมิภาคและโลก เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืน ทั้ง NSEC และ EWEC   ที่จะเชื่อมโยงอาเซียนไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ผ่านโครงการ BRI รวมทั้งโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการแม่แบบในการสร้างฐานเพื่อเชื่อมโยงไทยกับประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคใกล้เคียงทั้งทางบก อากาศ น้ำและทางราง ในรูปแบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) ประกอบด้วยโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบินหลัก (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โครงการพัฒนารถไฟทางคู่เชื่อมโยงจีน-ลาว-ไทย-กัมพูชา และโครงการระบบขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อไปยังท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังและท่าเรือมาบตาพุด
  • ล่าสุด นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่รัฐบาลได้รับรายงานจากคณะกรรมการคัดเลือกว่า กลุ่มผู้ร่วมทุนเอกชนไทย-จีน-ญี่ปุ่น ชนะการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม ๓ สนามบิน มูลค่าการลงทุนกว่า ๒๔๐,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งถือเป็นความสำเร็จแรกของความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในประเทศที่สาม ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคและโลก และนับเป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือที่ควรส่งเสริมให้เกิดการขยายผลในวงกว้างเพื่อสนับสนุนโครงการความเชื่อมโยงภายใต้ BRI มากขึ้น
  • นอกจากนี้ การเชื่อมโยงระหว่างไทยกับจีนก็มีความก้าวหน้าในเรื่องของรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน โดยในการประชุมครั้งนี้ ก็มีการลงนามโครงการความเชื่อมโยงระหว่างไทย-ลาว-จีน เพื่อเชื่อมต่อระหว่างหนองคาย-เวียงจันทน์ ซึ่งก็จะสนับสนุน BRI ด้วย 
  • สำหรับการใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงต่าง ๆ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์หลักของ BRI ในการสร้างการเจริญเติบโตและขยายศักยภาพของประเทศที่มีส่วนร่วมนั้น ผมมีข้อคิดเห็น ดังนี้ 
  • ประการแรก   ควรส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันและขยายตลาดให้ภาคธุรกิจ ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงระหว่างกรอบต่าง ๆ ในอนุภูมิภาคและภูมิภาค โดยเฉพาะ ACMECS กับ MLC GMS และ Greater Bay Area หรือ GBA และการจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกงประจำประเทศไทยในการขยายตลาดได้ ผมขอสนับสนุนจีนและวิสัยทัศน์ของ BRI อย่างเต็มที่ในการผลักดันความร่วมมือเชิงหุ้นส่วนแบบ Public-Private Partnership (PPP) เพราะผมเชื่อว่า ภาคเอกชนจะเป็นกลไกสำคัญในการทำให้ความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อเกิดความสมบูรณ์โดยเร็วและอย่างเป็นรูปธรรม
  • ประการที่สอง  เราควรให้ความสำคัญเรื่องการอำนวยความสะดวกการค้า การลงทุน และการประกอบธุรกิจระหว่างกัน โดยสร้างความเชื่อมโยงทางสถาบันและกฎระเบียบ ด้วยการขับเคลื่อนให้แผนแม่บทอาเซียนว่าด้วยความเชื่อมโยง ๒๐๒๕ และแผนแม่บท ACMECS ๒๐๑๙ - ๒๐๒๕ เกิดผลเป็นรูปธรรมเร่งรัดการเจรจาในกรอบ RCEP ให้สามารถได้ข้อสรุปภายในปีนี้ และมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าอื่น ๆ ของอาเซียน เร่งรัดการเชื่อมโยงทางดิจิทัล ซึ่งผมยินดีที่ได้ทราบว่า เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ไทยและจีนได้มีการประชุมความร่วมมือด้านดิจิทัลเป็นครั้งแรกที่นครคุนหมิง ในการพัฒนาความร่วมมือกันด้านปัญญา ประดิษฐ์ เมืองอัจฉริยะ ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ การค้าออนไลน์ และการเชื่อมโยง
  • ประการที่สาม การจัดตั้งแหล่งเงินทุนที่ยั่งยืนจะช่วยสนับสนุนโครงการที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์  ซึ่งเป็นแนวคิดของสมาชิก ACMECS ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ BRI โดยผมขอชื่นชมจีนที่เป็นผู้ริเริ่มการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) และกองทุน Silk Road Fund มาเพื่อการนี้ สำหรับความร่วมมือใน ACMECS นั้น เรากำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้ง ACMECS Fund เราจึงขอเชิญจีนและมิตรประเทศที่สนใจเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาด้วยกัน
  • ประการสุดท้าย ผลประโยชน์ของการเชื่อมโยงจะต้องตกอยู่กับพลเมืองมากที่สุด เราจึงควรเน้นเรื่องการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เช่น การสร้างความเชื่อมโยงทางการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔ และเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว การใช้เทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น เครือข่ายเมืองอัจฉริยะ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของอาเซียนที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของพลเมืองและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค รวมทั้งช่วยลดช่องว่างทางการพัฒนาระหว่างเมืองและชนบท 
  • จากที่กล่าวข้างต้น ผมเชื่อว่าเราจะสามารถร่วมมือกันส่งเสริมความเชื่อมโยงตามเจตนารมณ์ของยุทธศาสตร์ BRI เพื่อนำมาซึ่งสันติภาพ ความมั่งคั่งและการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อภูมิภาคและต่อโลกต่อไป 
  • ขอบคุณครับ