คำกล่าวพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิธีเปิดการประชุมระดับระดับภูมิภาคเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดน “High Level Regional Conference: Synchronising Trade and Security Plans in Support of ASEAN 2025”

คำกล่าวพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิธีเปิดการประชุมระดับระดับภูมิภาคเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดน “High Level Regional Conference: Synchronising Trade and Security Plans in Support of ASEAN 2025”

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 เม.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,394 view
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
พิธีเปิดการประชุมระดับระดับภูมิภาคเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดน
“High Level Regional Conference: Synchronizing Trade and Security Plans in Support of ASEAN 2025”
วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ
 
*******************
 
รัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ
คุณมิวะ คาโตะ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของยูเอ็นโอดีซี
ท่านสุภาพบุรุษ ท่านสุภาพสตรี
และท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
 
ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมพิธีเปิดการประชุมระดับภูมิภาคภายใต้หัวข้อ “การประสานแผนการค้าและความมั่นคงเพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025” ประจำปี ๒๕๖๒ ซึ่งจัดโดยความร่วมมือระหว่างประเทศไทย และสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นโอดีซี (UNODC) เพื่อเป็นเวทีสำหรับหารือแนวทางที่จะส่งเสริม  การบูรณาการระหว่างมิติทางเศรษฐกิจและมิติด้านความมั่นคงที่สอดคล้องกับเอกสารวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ โดยเฉพาะมาตรการส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนในภูมิภาคอาเซียน ส่งเสริมการค้าระหว่างกันในอาเซียนให้เป็นไปด้วยความปลอดภัย โดยมีมาตรการป้องกันประเทศอาเซียนจากอาชญากรรมข้ามชาติและความท้าทายข้ามพรมแดนต่าง ๆ ผมรู้สึกยินดีที่ได้ทราบด้วยว่าไทยกับยูเอ็นโอดีซีได้ร่วมกันจัดการประชุมในเรื่องนี้มาแล้วอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ และการประชุมครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๕ ผมเชื่อมั่นว่า ผลการประชุมครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือในการบริหารจัดการชายแดนระหว่างประเทศอาเซียนที่ยั่งยืนและเป็นรูปธรรม
 
ปัจจุบัน ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความเชื่อมโยงของระบบคมนาคมขนส่งในภูมิภาค ตลอดจนความนิยมใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบดิจิตัลในรูปแบบต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันที่เพิ่มมากขึ้น เช่น การติดต่อสื่อสาร การทำธุรกรรมออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งหากไม่มีมาตรการป้องกันและปราบปรามที่เหมาะสมแล้ว ย่อมเป็นช่องทางที่เอื้อประโยชน์ต่อการก่ออาชญากรรมข้ามชาติที่มีความซับซ้อนและส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางทั้งในมิติด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของมนุษย์
 
จากผลการศึกษาของยูเอ็นโอดีซีชี้ให้เห็นว่า ในแต่ละปีมีรายได้ที่เกิดจากอาชญากรรมข้ามชาติในรูปแบบต่าง ๆ สูงถึงปีละหนึ่งแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ผลการวิจัยของยูเอ็นโอดีซีได้ชี้ให้เห็นด้วยว่าอาชญากรรมข้ามชาติมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องในทุกภูมิภาคทั่วโลก ทั้งปัญหายาเสพติด การค้ามนุษย์การค้าสัตว์ป่าและไม้ผิดกฎหมาย การลักลอบขนคน รวมทั้งภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ เช่น ด้านอาชญากรรมทางไซเบอร์
 
โดยที่ในปีนี้ อาเซียนจะเริ่มใช้ระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน หรือ ASEAN Single Window (ASW) ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงระบบข้อมูลศุลกากรแบบบูรณาการ และลดขั้นตอนด้านศุลกากรระหว่างประเทศอาเซียนลง เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามแดนระหว่างกัน ดังนั้น การเปิดเสรีทางการค้าของอาเซียนจะมีความสมบูรณ์มากขึ้น นอกจากนี้ อาเซียนมีแผนที่จะส่งเสริมการสร้างให้ประชาคมอาเซียนเชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ ทั้งทางบก ทางน้ า และทางอากาศ ตามแนวทางภายใต้แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ มาตรการในการอำนวยความสะดวกเหล่านี้ส่งผลโดยอ้อมให้พื้นที่บริเวณชายแดนมีความเปราะบางและสุ่มเสี่ยงต่อการถูกกลุ่มอาชญากรข้ามชาติใช้แสวงหาประโยชน์ดำเนินกิจกรรมผิดกฎหมายและก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐได้
 
ประเทศสมาชิกอาเซียนตระหนักดีถึงปัญหานี้ และได้ร่วมกันจัดท าเอกสารวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ และแผนงานประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๑๖ – ๒๐๒๕ ก าหนดเป้าหมายในการสร้างประชาคมอาเซียนและมีกระบวนการรวมตัวกันอย่างแน่นแฟ้น มีการเชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ และในขณะเดียวกัน อาเซียนพยายามแสวงหาแนวทางในการรับมือ ป้องกันและปราบปรามปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยจัดตั้งกลไกที่สำคัญได้แก่ ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ และที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งมีการหารือเป็นประจำทุกปี และเป็นกลไกความร่วมมือหลักด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติของอาเซียน ที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย การพัฒนาขีดความสามารถและการฝึกปฏิบัติการ รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือกับภายนอกภูมิภาค
 
อย่างไรก็ดี แผนงานและกลไกต่าง ๆ ของอาเซียนดังกล่าวมาแล้วข้างต้นอาจจะยังไม่เพียงพอที่จะรับมือกับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติและภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ประเทศไทยจึงเห็นว่าอาเซียนควรร่วมกันกำหนดแนวทางที่จะพัฒนากรอบความร่วมมือในการบริหารจัดการชายแดนระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถป้องกันภูมิภาคจากภัยคุกคามที่มาจากอาชญากรรมข้ามชาติ ตลอดจนสามารถเกิดการไหลเวียนของการค้า การลงทุน และประชาชนข้ามพรมแดนอย่างปลอดภัยและยั่งยืน
 
ในปีนี้ ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนภายใต้แนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกลยั่งยืน” ซึ่งไทยมีความตั้งใจที่จะเสริมสร้างให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความยั่งยืนในทุกมิติ โดยเฉพาะความมั่นคงที่ยั่งยืนมีภูมิต้านทานต่อภัยคุกคามและอาชญากรรมข้ามชาติในรูปแบบต่าง ๆ โดยเมื่อวันที่ ๒๑ – ๒๒ มีนาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษ เรื่องการป้องกันการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฎหมาย ที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากในแต่ละปีการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายมีมูลค่าสูงถึง ๒.๕ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นด้วย รัฐมนตรีอาเซียนได้ออกแถลงการณ์ร่วมสะท้อนถึงเจตนารมณ์ที่จะต่อสู้กับการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฎหมาย มุ่งเน้นในการลดอุปสงค์ความต้องการบริโภคสัตว์ป่า การบังคับใช้กฎหมายและลดอาชญากรรมไซเบอร์ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่าโดยที่ประชุมได้ย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือในระดับนานาชาติที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน
 
การแก้ไขปัญหาลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฎหมาย เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติไม่สามารถจะสำเร็จลุล่วงได้ด้วยความพยายามของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกประเทศในภูมิภาคจะต้องร่วมมือกันจึงจะสามารถเผชิญหน้ากับปัญหาได้อย่างรอบด้าน มีประสิทธิภาพ และมีความยั่งยืน และด้วยเหตุนี้ อาเซียนจึงควรร่วมกันจัดตั้งกลไกความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนในอาเซียน (ASEAN-wide border management cooperation arrangement) ซึ่งจะเป็นกลไกที่จะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการเคลื่อนย้ายคน กับการรักษาความปลอดภัยบริเวณชายแดน โดยมาตรการบริหารจัดการชายแดนที่ดีจะมีบทบาทสำคัญ ในการป้องกันปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติในระดับภูมิภาค และส่งเสริมให้เกิดความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กันแนวคิดของการส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนเป็นเรื่องที่อาเซียนได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ในเอกสารวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ ซึ่งการจัดตั้งกลไกดังกล่าวเป็นการแปลงเจตนารมณ์ของอาเซียนให้เป็นแผนงานที่เป็นรูปธรรมเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอาเซียน
 
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน
 
การประชุมระดับภูมิภาคที่จะมีขึ้นในวันนี้และวันพรุ่งนี้ นับเป็นการต่อยอดจากผลการประชุมด้านการบริหารจัดการชายแดนอาเซียนที่มีขึ้นในปีก่อน ๆ ผมหวังว่า ที่ประชุมจะมีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในแง่มุมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ระหว่างผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศคู่เจรจาของอาเซียนและองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ และน าไปสู่แนวทางการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ ๓ ประเด็นสำคัญ คือ หนึ่ง การแลกเปลี่ยนข่าวสารและข่าวกรองระหว่าง UNODC และกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อร่วมกันสกัดกั้นและทลายเครือข่ายค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ ค้าสัตว์ป่าและไม้ผิดกฎหมาย ลักลอบขนคน และอาชญากรรมทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่บั่นทอนสังคมและประชาชนของพวกเรา และมีส่วนเป็นอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน สอง ความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและความท้าทายข้ามพรมแดนต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ และ สาม การส่งเสริมการพัฒนาในพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำตามข้อริเริ่ม เพื่อการรวมตัวของอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration: IAI) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะลดช่องว่างด้านการพัฒนาในภูมิภาค ลดต้นตอของปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติและส่งเสริมการค้าภายในภูมิภาค โดยเฉพาะการส่งเสริมหุ้นส่วนในการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sufficiency Economy Philosophy for SDGs Partnership: SEP for SDGs Partnership) ซึ่งไทยมีประสบการณ์และพร้อมให้ความร่วมมือสมาชิก UNODC เสมอ และทั้งนี้ นอกจากจะมีการหารือในมิติความมั่นคงและเศรษฐกิจแล้ว ควรจะมีการหารือในมิติของกรอบการใช้กฎหมายและการเพิ่มขีดความสามารถเชิงปฏิบัติการเพื่อการบริหารจัดการชายแดนอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย โดยไทยจะนำผลการประชุมในครั้งนี้ ไปขยายผลเพื่อเสนอต่อที่ประชุมอาเซียนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการนำเสนอแนวคิดเรื่องการจัดตั้งกลไกความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนในอาเซียนต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติและการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (AMMTC) ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพในปีนี้ หากอาเซียนสามารถมีฉันทามติได้ในเรื่องนี้ก็จะนำเสนอต่อให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ ๓๕ พิจารณาให้ความเห็นชอบในเดือนพฤศจิกายนศกนี้ต่อไปด้วย
 
สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศคู่เจรจาอาเซียน และองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่ได้ส่งผู้แทนระดับสูงเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ และขอขอบคุณยูเอ็นโอดีซีที่ให้ความร่วมมือและร่วมเป็นหุ้นส่วนในการจัดการประชุมระดับภูมิภาคในครั้งนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมดังกล่าวนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างกว้างขวาง และขยายผลพัฒนาไปสู่การจัดตั้งกลไกความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนในอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต เพราะโลกในปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยความท้าทายและภัยคุกคามใหม่ ๆ ระบบการบริหารจัดการชายแดนที่มีความเข้มแข็งและประสิทธิภาพ จะช่วยแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ และส่งเสริมให้มีการค้า การลงทุน การเดินทางของประชาชนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและการไหลเวียนของปัจจัยการผลิตในภูมิภาคอาเซียนอย่างปลอดภัยซึ่งจะเสริมสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชน อีกทั้ง ทำให้ประชาคมอาเซียนเป็นประชาคมที่มีความมั่นคงและมีความพร้อมที่จะรับมือกับความท้าทายในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างยั่งยืน
 
ขอบคุณครับ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ