นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๑๐ และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ ๘ – ๙ ตุลาคม ๒๕๖๑

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๑๐ และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ ๘ – ๙ ตุลาคม ๒๕๖๑

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 ต.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,301 view
      เมื่อวันที่ ๘ - ๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะผู้แทนไทยเยือนกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเข้าร่วมการประชุมกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๑๐ (10th Mekong-Japan Summit) และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมด้วย
 
      นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุมกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๑๐ เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ ซึ่งจัดขึ้นที่เรือนรับรองรัฐบาลของญี่ปุ่น โดยมีนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และผู้นำจากประเทศลุ่มน้ำโขงอื่น ๆ เข้าร่วม ได้แก่ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ที่ปรึกษาแห่งรัฐแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และนายกรัฐมนตรีเวียดนาม 
 
      ที่ประชุมผู้นำได้ชื่นชมความสำเร็จของการดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. ๒๐๑๕ (๒๕๕๘ - ๒๕๖๑) และได้ร่วมรับรองยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. ๒๐๑๘ เพื่อความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Tokyo Strategy 2018 for Mekong-Japan Cooperation) ซึ่งกำหนดทิศทางความร่วมมือในอนาคตให้สอดคล้องกับ ๓ แนวทาง ได้แก่ แผนแม่บท ACMECS ยุทธศาสตร์อินโด - แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งได้จัดลำดับความร่วมมือ ๓ เสาหลัก ได้แก่ การพัฒนาความเชื่อมโยง การสร้างสังคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และการสร้างความเป็นรูปธรรมและความตระหนักรู้ต่ออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสีเขียว 
 
      นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม โดยเน้นย้ำถึงประเด็นที่สำคัญ อาทิ ขอบคุณที่ญี่ปุ่นเล็งเห็นความสำคัญของแผนแม่บท ACMECS ซึ่งไทยพร้อมสนับสนุนให้ ACMECS และกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นเชื่อมโยง และเกื้อหนุนกันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ยินดีที่ญี่ปุ่นได้ประกาศความมุ่งมั่นที่จะผลักดันและส่งเสริมให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาอนุภูมิภาคมากขึ้น และพร้อมร่วมมือกับญี่ปุ่นในการฉลองปีแห่งการแลกเปลี่ยนระหว่างลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Mekong-Japan Exchange Year 2019) เพื่อฉลองการครบรอบ ๑๐ ปีของกรอบความร่วมมือฯ นอกจากนี้ ในโอกาสที่ไทยจะเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 นายกรัฐมนตรียังได้ยืนยันความพร้อมที่จะร่วมมือกับญี่ปุ่นในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในการสร้างประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีพลวัต มีความครอบคลุม และไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง 
 
      ในโอกาสการเข้าร่วมการประชุมฯ ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องพร้อมกับผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขงอื่น ๆ ได้แก่ การเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นและมกุฏราชกุมาร การพบปะกับกับสมาชิกสมาคมมิตรภาพรัฐสภาญี่ปุ่น - แม่โขง และผู้แทนสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเรน) และสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น รวมถึงการเข้าร่วมงานสัมมนา Mekong-Japan Investment Forum ซึ่งจัดโดย JETRO นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกำหนด  การหารือทวิภาคี ได้แก่ การพบหารือกับนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และการพบกับประธาน JETRO และประธานบริษัท Mitsui ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ใช้โอกาสการพบกับฝ่ายญี่ปุ่นเน้นย้ำศักยภาพของไทยด้านการพัฒนาความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค รวมถึงได้เชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นให้มาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในโครงการภายใต้นโยบายเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ประเทศไทย ๔.๐ การลงทุนใน ๑๐ อุตสาหกรรมเป้าหมาย และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
 
      การเดินทางเยือนญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้นับว่าเป็นความสำเร็จทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ในระดับทวิภาคี ไทยได้สร้างความเชื่อมั่นทางการเมืองและเศรษฐกิจแก่นักลงทุนญี่ปุ่น โดยตระหนักถึงความสำคัญของญี่ปุ่นว่าเป็นประเทศผู้ลงทุนอันดับ ๑ และเป็นคู่ค้าอันดับ ๒ ของไทย ในระดับพหุภาคี ไทยประสบความสำเร็จในการสร้างเอกลักษณ์ใหม่แก่ ACMECS ตามที่แผนแม่บท ACMECS ได้ถูกระบุให้เป็นหนึ่งในแนวทางการดำเนินการของยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. ๒๐๑๘ และปรากฏอยู่ในคำกล่าวของผู้นำประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงส่วนใหญ่ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของประเทศสมาชิกว่า ACMECS จะเป็นกลไกสำคัญที่สามารถนำพาอนุภูมิภาคไปสู่การพัฒนาที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ได้อย่างแท้จริง   

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ