นายกรัฐมนตรีเยือนราชอาณาจักรภูฏานอย่างเป็นทางการ

นายกรัฐมนตรีเยือนราชอาณาจักรภูฏานอย่างเป็นทางการ

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ก.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,828 view
 
คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ
แถลงข่าวร่วม
การเยือนราชอาณาจักรภูฏานอย่างเป็นทางการ
ของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา 
นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย
ระหว่างวันที่ ๑๙ - ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๑
 

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย เดินทางเยือนราชอาณาจักรภูฏานอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 19 - 20 กรกฎาคม 2561 ตามคำเชิญของดาโช เชริง โตบเกย์ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรภูฏาน พร้อมด้วยภริยา รองศาสตราจารย์ นราพร จันทร์โอชา นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลไทย

การเยือนครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างทั้งสองประเทศที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างทั้งสองราชอาณาจักร ที่เชื่อมโยงกันด้วยความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดจนมรดกร่วมทางวัฒนธรรมและความเชื่อทางศาสนา ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นไป

นายกรัฐมนตรีไทยได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุกแห่งราชอาณาจักรภูฏาน เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑

นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้พบกันเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑  และได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือทวิภาคีประเด็นต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง รวมทั้งความร่วมมือในเวทีระดับภูมิภาคและพหุภาคี อาทิ องค์การสหประชาชาติ (UN) ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) และความร่วมมือเอเชีย (ACD) ทั้งสองฝ่ายแสดงความพอใจต่อสถานะความสัมพันธ์และความร่วมมือที่มีอยู่ในปัจจุบัน และย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ผู้นำทั้งสองตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ

นายกรัฐมนตรีภูฏานขอบคุณรัฐบาลไทยที่ได้ถวายการรับเสด็จสมเด็จพระราชาธิบดี สมเด็จพระราชินี และเจ้าชายจิกมี นัมเกล วังชุก อย่างสมพระเกียรติ ในโอกาสที่ทรงเข้าร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อเดือนตุลาคม 2560 นายกรัฐมนตรีไทยขอบคุณรัฐบาลภูฏานในการรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสที่ทรงทอดพระเนตรโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  เมื่อปี ๒๕๕๙

นายกรัฐมนตรีภูฏานกล่าวว่าประชาชนชาวภูฏานเศร้าโศกเสียใจกับการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงเป็นที่เคารพรักและเทิดทูนโดยพสกนิกรชาวไทย และได้รับการยกย่องทั่วโลกสำหรับพระวิริยะอุตสาหะในการพัฒนาประเทศ นายกรัฐมนตรีภูฏานกล่าวว่าการเสด็จเยือนไทยของพระราชาธิบดี สมเด็จพระราชินี และเจ้าชายจิกมี นัมเกล วังชุก เพื่อถวายราชสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และทรงเข้าร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรสะท้อนให้เห็นถึงความความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างสองราชวงศ์

นายกรัฐมนตีภูฏานแสดงความซาบซึ้งต่อรัฐบาลไทยสำหรับการสนับสนุนและความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องในสาขาความร่วมมือที่มีความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภูฏาน อาทิ วิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ สาธารณสุข การศึกษา การบริหารจัดการและการเกษตร นายกรัฐมนตรีไทยเห็นพ้องที่จะเพิ่มโอกาสในการพัฒนาทักษะและทรัพยากรมนุษย์ในภูฏาน รวมทั้งที่ผ่านการดำเนินโครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย

นายกรัฐมนตรีทั้งสองรับทราบด้วยความยินดีเกี่ยวกับความสำเร็จของโครงการผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (One Gewog One Product - OGOP) ของภูฏาน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระราชินีแห่งภูฏาน (Queen’s Project Office) ของภูฏาน และกรมความร่วมมือระหว่างประเทศของไทย ผู้นำทั้งสองรับทราบว่า โครงการ OGOP สร้างประโยชน์แก่ประชาชนภูฏานมากกว่า ๔๐๐ ครัวเรือน จาก ๘๐ ตำบล นอกจากนี้ ได้มีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์โครงการดังกล่าวในงานแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ ๑๗ - ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๐ และได้รับการตอบรับที่ดีจากสาธารณชนไทย

นายกรัฐมนตรีทั้งสองย้ำถึงความสำคัญในการดำเนินการร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยผ่านการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีและประสบการณ์ภายใต้หลักปรัชญาความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH) ของภูฏาน และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่สามารถประยุกต์ใช้ในทางที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน นายกรัฐมนตรีไทยเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายน่าจะสามารถหารือแนวทางการพัฒนาชุมชนนำร่องโดยประยุกต์ใช้ GNH และ SEP เพื่อบรรลุผล SDGs

นายกรัฐมนตรีทั้งสองตระหนักถึงความสำคัญของความตกลงว่าด้วยความร่วมมือที่ครอบคลุมทุกด้าน (Comprehensive Framework Agreement for Cooperation) และความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ (Trade and Economic Cooperation Agreement) ระหว่างไทยและภูฏาน ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินความร่วมมือที่สำคัญระหว่างสองประเทศ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะทำงานร่วมกันผ่านกลไกความร่วมมือต่าง ๆ ที่มีอยู่ อาทิ การประชุมหารือประจำปีในระดับปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (Annual Bilateral Consultations) การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้า (the Joint Trade Committee) และคณะทำงานร่วมด้านการเกษตร (the Joint Agriculture Working Group) เพื่อแสวงหาแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า

นายกรัฐมนตรีทั้งสองเห็นพ้องต่อความสำคัญต่อการแสวงหาโอกาสการลงทุนระหว่างสองประเทศเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนรับทราบถึงศักยภาพของการลงทุนของไทยในภาคการก่อสร้างและภาคการบริการของภูฏานต่อการลงทุนของไทย และยินดีต่อพัฒนาการด้านการลงทุนในสาขาโรงแรมของไทยในภูฏาน ทั้งสองฝ่ายยังได้แสดงความยินดีต่อความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทยและกรมอุตสาหกรรม กระทรวงเศรษฐการ (Economic Affairs)  ของภูฏาน

นายกรัฐมนตรีทั้งสองรับทราบด้วยความยินดีต่อการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเมื่อปี 2560 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ และเห็นพ้องที่จะสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการร่วมกันในการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายใต้หัวข้อ  “สองราชอาณาจักร หนึ่งเป้าหมาย (Two Kingdoms, One Destination)” ผ่านการดำเนินการด้านการตลาดร่วม การแนะนำรายการท่องเที่ยว และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธ

ผู้นำทั้งสองตระหนักถึงศักยภาพในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศเพื่อส่งเสริมการค้าการท่องเที่ยว และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ทั้งสองฝ่ายจึงจะเร่งรัดการจัดทำบันทึกความเข้าใจที่อยู่ระหว่างการดำเนินการให้สิ้นสุดภายในกรอบเวลาที่ได้ตกลงร่วมกัน

นายกรัฐมนตรีทั้งสองตระหนักว่าปี ๒๕๖๑ จะครบรอบ 30 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับภูฏานโดยเห็นพ้องที่จะเฉลิมฉลองโอกาสดังกล่าวอย่างเหมาะสมในประเทศไทยและภูฏาน และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองโอกาสดังกล่าว นายกรัฐมนตรีไทยได้เสนอที่จะสนับสนุนการดำเนินโครงการบริการทางการแพทย์เพื่อการรักษาหู ตา จมูก และคอ (EENT) รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์หู จมูก และคอ (ENT) ในภูฏาน เพื่อรักษาพยาบาลและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ของภูฏาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีภูฏานแสดงความยินดีและขอบคุณสำหรับข้อเสนอดังกล่าว

นายกรัฐมนตรีไทยได้แสดงความซาบซึ้งต่อนายกรัฐมนตรีและประชาชนภูฏานที่ให้การต้อนรับตนและคณะผู้แทนไทยระหว่างการเยือนอย่างอบอุ่นและเป็นอย่างดี

การเยือนภูฏานอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีไทยในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและเป็นมิตรระหว่างไทยและภูฏาน การเยือนในครั้งนี้ยังมีส่วนช่วยผลักดันการกระชับสายสัมพันธ์แห่งมิตรภาพ ความปรารถนาดี และความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นระหว่างประเทศและประชาชนของทั้งสองฝ่ายอีกด้วย

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ