ไทยและญี่ปุ่นร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเพื่อการพัฒนาปาเลสไตน์ ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ ๓

ไทยและญี่ปุ่นร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเพื่อการพัฒนาปาเลสไตน์ ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ ๓

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 มิ.ย. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,441 view

การประชุมว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเพื่อการพัฒนาปาเลสไตน์ ครั้งที่ ๓

 

          เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561 กระทรวงการต่างประเทศไทยและญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเพื่อการพัฒนาปาเลสไตน์ ครั้งที่ 3 (The Third Conference on Cooperation among East Asian Countries for Palestinian Development – CEAPAD III) ที่กรุงเทพมหานคร โดยมีพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้แทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม

          นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย Taro Kono รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น และนาย Riad Malki รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและผู้พำนักในต่างแดนรัฐปาเลสไตน์ เป็นประธานร่วมการประชุมดังกล่าว โดยมีผู้เข้าร่วมจากประเทศและองค์การระหว่างประเทศจำนวน 13 แห่ง ประกอบด้วย นาง Retno L.P. Marsudi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย นาย Mohamad Maliki Bin Osman รัฐมนตรีอาวุโสกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ นาย Pierre Krähenbühl, Commissioner-General ของสำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (United Nations Relief and Works Agency for Palestine Refugees in the Near East - UNRWA) ตลอดจนผู้แทนระดับสูงจากบรูไนดารุสซาลาม เวียดนาม มาเลเซีย ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลาม สันนิบาตอาหรับ สำนักงานคณะเจรจาสี่ฝ่าย (Office of the Quartet) อียิปต์และสาธารณรัฐเกาหลี

          ที่ประชุม CEAPAD III ได้พิจารณาการดำเนินงานของประเทศสมาชิกในการให้ความช่วยเหลือปาเลสไตน์ และได้รับรองแถลงการณ์ร่วมซึ่งกล่าวถึงความมุ่งมั่นของประเทศ CEAPAD ที่จะให้การสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของปาเลสไตน์ ซึ่งประเทศ CEAPAD จะให้ความช่วยเหลือแก่ปาเลสไตน์ในสาขาที่ตนมีทรัพยากรและความเชี่ยวชาญ และสอดคล้องกับความต้องการของปาเลสไตน์ โดยมุ่งเป้าหมายในสาขาการพัฒนาแหล่งน้ำ การท่องเที่ยว การเกษตร การบริหารจัดการท้องถิ่น การพัฒนาเศรษฐกิจ SMEs การฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร และโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น ที่ประชุมยืนยันที่จะให้การสนับสนุน UNRWA ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ และชื่นชมกลไกของ CEAPAD ที่สนับสนุนองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ (Non-Government Organization - NGOs) ในการดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือด้านการพัฒนาปาเลสไตน์ (CEAPAD Facilitation Mechanism - CEAFAM)  การดำเนินโครงการสนับสนุนปาเลสไตน์ที่สำคัญ อาทิ โครงการนิคมอุตสาหกรรมเกษตรเจริโค (Jericho Agro-Industrial Park - JAIP) ภายใต้ความริเริ่ม “ระเบียงความมั่นคงและมั่งคั่ง” ของญี่ปุ่น และโครงการสนับสนุนทางเศรษฐกิจต่อครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ (DEEP) ของธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลาม และที่ประชุมยืนยันที่จะสนับสนุนกรอบความร่วมมือ CEAPAD และผลักดันการดำเนินการให้มีผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมก่อนการประชุม CEAPAD ระดับรัฐมนตรีครั้งต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ