การเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

การเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ต.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,856 view

      เมื่อวันที่ ๒๔ - ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๑ ตุน ดร. มหาธีร์ บิน โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย พร้อมด้วย ตุน ดร. ซีตี ฮัสมะฮ์ บินติ โมฮัมหมัด อาลี ภริยา ได้เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล โดยเป็นการเยือนไทยครั้งแรก นับตั้งแต่ ดร. มหาธีร์ฯ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเป็นสมัยที่ ๒ เมื่อพฤษภาคม ๒๕๖๑ เพื่อแนะนำตัวตามธรรมเนียมปฏิบัติของผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน

      คณะของนายกรัฐมนตรีประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมมาเลเซียและข้าราชการระดับสูงของมาเลเซียร่วมคณะด้วย โดยนายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้หารือข้อราชการกับนายกรัฐมนตรีและเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๑ 

      การเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียครั้งนี้ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซีย นายกรัฐมนตรีได้ชื่นชมนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในฐานะผู้นำอาวุโสของภูมิภาคและของโลก และได้สร้างคุณูปการให้ความสัมพันธ์ไทย - มาเลเซียเป็นอันมาก โดยนายกรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ ได้แก่

(๑) การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) และความร่วมมือด้านความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายแสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหา จชต. และเห็นพ้องที่จะขยายความร่วมมือในการเสริมสร้างความมั่นคงในภาพใหญ่ โดยเฉพาะการบริหารและจัดการชายแดน เช่น การต่อต้านการก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่งการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด การค้ามนุษย์ และการแก้ไขปัญหาบุคคลสองสัญชาติ

(๒) การพัฒนาเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงตามแนวชายแดน นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ทั้งสองประเทศยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจขึ้นเป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่เข้มข้น” เพื่อร่วมมือกันเสริมสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และการพัฒนาที่ยั่งยืนของทั้งสองประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นว่าไทยและมาเลเซียมีศักยภาพในการส่งเสริมการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างกันอีกมาก จึงพร้อมร่วมมือกันผลักดันโครงการความร่วมมือสำคัญที่คั่งค้างให้มีความคืบหน้าในด้านการพัฒนาพื้นที่ชายแดน การส่งเสริมความเชื่อมโยงไร้รอยต่อ อาทิ การขยายเวลาทำการของด่านศุลกากรสะเดา - บูกิตกายูฮิตัม เป็น ๒๔ ชั่วโมง การเชื่อมโยงส่วนขยายของด่านศุลกากรดังกล่าว และการดำเนินการด้านพิธีการศุลกากร ณ จุดเดียว การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก จ. นราธิวาส ๒ แห่ง และการเร่งรัดจัดทำบันทึกความเข้าใจ ๒ ฉบับเรื่องการขนส่งสินค้าและรถโดยสารข้ามแดน และความ ตกลง/สนธิสัญญาที่อยู่ระหว่างเจรจาอีก ๗ ฉบับให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

(๓) ความร่วมมือในกรอบอาเซียน ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในอาเซียน   ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีประชากร ๖๐๐ กว่าล้านคน เป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพสูงและเป็นโอกาสดีสำหรับการส่งเสริมการค้าและการลงทุนให้เต็มศักยภาพ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียแสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปี ๒๕๖๒ ซึ่งไทยมีเป้าหมายให้ประชาคมอาเซียนมีความเข้มแข็ง มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ประเทศสมาชิกอาเซียนจะก้าวไปพร้อมกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง มีความเป็นปึกแผ่นและมีความเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนความร่วมมือกับนานาประเทศ

      บรรยากาศการหารือเป็นไปอย่างฉันมิตรใกล้ชิดและสร้างสรรค์ ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญอย่างมากกับการมีช่องทางติดต่อสื่อสารในระดับผู้นำและระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ รวมทั้งความสม่ำเสมอของการพบปะหารือระหว่างกันเพื่อขับเคลื่อนทศวรรษใหม่แห่งความร่วมมือไทย - มาเลเซียให้เจริญก้าวหน้าเกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งถือเป็นวิสัยทัศน์ร่วมกันที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องนำไปปฏิบัติให้เกิดผลต่อไป

      นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๑ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยังได้เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ณ บ้านสี่เสา เทเวศร์ และปาฐกถาพิเศษเรื่องความสัมพันธ์ไทย - มาเลเซียในบริบทอาเซียน ณ หอประชุม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ