รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๑ ณ สิงคโปร์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๑ ณ สิงคโปร์

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 ส.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,972 view
เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๑ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา (Post-Ministerial Conferences – PMC) กับสหภาพยุโรป (อียู) อินเดีย สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา
 
ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน – อินเดียได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างกันในทุกมิติ อาทิ ความร่วมมือด้านความมั่นคงในภูมิภาค โดยเฉพาะความมั่นคงทางทะเล รวมถึงเศรษฐกิจภาคทะเล และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยประเทศสมาชิกอาเซียนและอินเดียต่างให้ความสำคัญกับการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership – RCEP) ความเชื่อมโยงระหว่างอาเซียน - อินเดียผ่านระเบียงเศรษฐกิจและโครงการทางหลวงสามฝ่าย อินเดีย เมียนมา และไทย และความเชื่อมโยงทั้งทางบก ทางน้ำ อากาศ โดยที่ประชุมเห็นพ้องกับความเห็นของไทยในการพัฒนาภูมิภาคให้เกิดความเชื่อมโยงอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยในปี ๒๕๖๒ จะเป็นปีท่องเที่ยวอาเซียน-อินเดีย
 
ทั้งนี้ ไทยรับตำแหน่งประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน - อินเดียต่อจากเวียดนาม วาระ ๓ ปี (๒๕๖๑ – ๒๕๖๔) จากการประชุมครั้งนี้ โดยไทยพร้อมจะสานต่อความสำเร็จของเวียดนามและร่วมมือกับอินเดียอย่างใกล้ชิดเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดียให้งอกเงยมากขึ้นในทุกมิติ
 
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เป็นประธานร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน – อียู กับนาง Federica Mogherini ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงและรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (High Representative of the European Union for Foreign Affairs and Security Policy / Vice-President of the Commission - HR/VP) ซึ่งที่ประชุมชื่นชมการปฏิบัติหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน – อียูของไทยในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา และหารือเตรียมการจัดประชุมผู้นำอียู – อาเซียน (EU-ASEAN Leaders’ Meeting) ในวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ และการประชุมอาเซียน – อียูระดับรัฐมนตรี (ASEAN – EU Ministerial Meeting – AEMM) ครั้งที่ ๒๒ ในเดือนมกราคม ๒๕๖๒ นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นพ้องกันเรื่องการส่งเสริมการมีค่านิยมร่วมในภูมิภาคนิยม (regionalism) และพหุภาคีนิยม (multilateralism) การสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียนโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และการส่งเสริมความเชื่อมโยงทั้งภายในภูมิภาคและระหว่างอาเซียนกับอียู การส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน การรื้อฟื้นการเจรจา ASEAN-EU FTA ควบคู่ไปกับการเจรจา FTA รายประเทศของอียู และการเร่งจัดทำ ASEAN-EU Comprehensive Air Transport Agreement (CATA) ที่อยู่ระหว่างการเจรจาในปัจจุบันให้เป็นผลสำเร็จ 
 
ในโอกาสนี้ ไทยได้ส่งมอบการเป็นประเทศผู้ประสานงานให้กับสิงคโปร์ และ นาง Mogherini ได้มอบหนังสือ Blue Book 2018 EU-ASEAN Development Cooperation in 2017 ซึ่งสรุปภาพรวมความสัมพันธ์และกิจกรรมความร่วมมืออาเซียน – อียูให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ในฐานะประธานอาเซียน
 
ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี ได้หารือถึงพัฒนาการความสัมพันธ์ในประเด็นด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม โดยที่ประชุมยินดีกับข้อริเริ่มนโยบาย New Southern Policy และประเด็น 3Ps (People, Prosperity, Peace) ของประธานาธิบดีมุน แจ อิน รวมทั้งรับทราบความประสงค์ของสาธารณรัฐเกาหลีที่จะจัดการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษ เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ ๓๐ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลีในปี ๒๕๖๒ ทั้งนี้ สาธารณรัฐเกาหลีได้กล่าวสนับสนุนบทบาทของอาเซียนในการเป็นเวทีที่ผู้นำจากประเทศต่าง ๆ ได้หารือถึงนโยบายที่หลากหลาย และหวังว่านโยบาย New Southern Policy จะสามารถยกระดับความสัมพันธ์อาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ที่ประชุมยังได้หารือถึงพัฒนาการในเชิงบวกบนคาบสมุทรเกาหลีและสนับสนุนกระบวนการการหารือระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้รวมทั้งระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯ ให้ส่งผลต่อพัฒนาการที่จะนำไปสู่สันติสุขและความมั่นคงของภูมิภาค
 
ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน – ออสเตรเลียได้หารือถึงความร่วมมือในการรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ และให้ความสำคัญกับการเร่งรัดการจัดทำ RCEP และการใช้ประโยชน์จาก ASEAN – Australia – New Zealand FTA (AANZFTA) เพื่อสนับสนุนการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค และการให้ทุนเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและเยาวชนระหว่างกัน ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการอาเซียน – ออสเตรเลีย (ค.ศ. ๒๐๑๕ – ๒๐๑๙) และข้อริเริ่ม ๑๕ ข้อจากการประชุมสุดยอดอาเซียน – ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๑ ณ นครซิดนีย์ ในการนี้ ไทยได้เสนอเป็นเจ้าภาพร่วมกับออสเตรเลียจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ การส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านศูนย์ ASEAN Centre on Sustainable Development Studies and Dialogue และการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ ทั้งนี้ ไทยได้ใช้โอกาสนี้กล่าวขอบคุณออสเตรเลียสำหรับการส่งผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ความช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่าอคาเดมีที่ถ้ำหลวง จังหวัดเชียงรายด้วย
 
ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน – สหรัฐฯ ได้เน้นย้ำความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่สำคัญของอาเซียน - สหรัฐฯ โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันมากกว่า ๒๓๓ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการลงทุนระหว่างกันมากกว่า ๕.๔ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และหารือประเด็นความมั่นคงในภูมิภาคที่สำคัญ อาทิ ทะเลจีนใต้ คาบสมุทรเกาหลี การก่อการร้าย รวมทั้งแนวคิดอินโด - แปซิฟิก โดยสหรัฐฯ ได้ย้ำถึงการให้ความช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนอินโด - แปซิฟิกใน ๓ สาขา ได้แก่ เศรษฐกิจดิจิทัล พลังงาน และโครงสร้างพื้นฐาน จำนวน ๑๑๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยืนยันความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมในภูมิภาค นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและดิจิทัลระหว่างอาเซียนและสหรัฐฯ และให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อย (MSMEs) รวมถึงการสร้างความใกล้ชิดกันในระดับประชาชน ผ่านโครงการ Young South East Asians Initiative (YSEALI) และการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและการศึกษา
 
ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน – แคนาดา ได้เน้นย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนและแคนาดาในทุกมิติ โดยแคนาดาแสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับอาเซียนในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน การส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างถิ่น (migrant workers) ความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม การเสริมสร้างพลังสตรีและเด็ก นอกจากนี้ แคนาดาเน้นย้ำการค้าที่ตั้งอยู่บนกฎระเบียบ เปิดกว้างและเสรี สนับสนุนการเจรจา Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP) ต่อต้านการกีดกันทางการค้า และการดำเนินมาตรการฝ่ายเดียวทางการค้า และยินดีกับการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับแคนาดา ในขณะที่อาเซียนขอบคุณแคนาดาที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของอาเซียนผ่านการให้ทุนการศึกษาจำนวน ๑๐ ล้านดอลลาร์แคนาดา ซึ่งมีผู้รับทุนไปแล้วประมาณ ๘๐ ราย และประสงค์ให้แคนาดาช่วยเหลืออาเซียนลดช่องว่างด้านการพัฒนา รวมทั้งให้ความร่วมมือในด้านการบริหารจัดการชายแดน ตลอดจนการส่งเสริมพลังสตรี โดยอาจใช้ ASEAN Centre on Sustainable Development Studies and Dialogue ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปี ๒๕๖๒ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือดังกล่าว
 
สำหรับการประชุมในวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๑ จะมีการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three (APT) Foreign Ministers' Meeting) ครั้งที่ ๑๙ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit (EAS) Foreign Ministers’ Meeting) ครั้งที่ ๘ และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum – ARF) ครั้งที่ ๒๕

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ