รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ ๑๙ การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ ๘ และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองๅและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ ๒๕

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ ๑๙ การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ ๘ และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองๅและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ ๒๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ส.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 5,077 view
เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๑ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ ๑๙ (the 19th ASEAN Plus Three (APT) Foreign Ministers’ Meeting) การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ ๘ (the 8th East Asia Summit (EAS) Foreign Ministers’ Meeting) และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองๅและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ ๒๕ (the 25th ASEAN Regional Forum – ARF) 
 
ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ ๑๙ พอใจกับความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลีในสาขาต่าง ๆ ที่มี ความหลากหลายซึ่งมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะความเชื่อมโยงในภูมิภาค การเงินการคลัง ความมั่นคงทางอาหาร การค้าเสรี การแลกเปลี่ยนระดับประชาชน เป็นต้น นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงแนวทางในการผลักดันความร่วมมืออาเซียนบวกสามไปสู่ระดับที่สูงขึ้น ซึ่งรวมถึงเป้าหมายของการมุ่งไปสู่การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (East Asia Economic community: EAEc) อีกทั้งยังได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในภูมิภาค ในการนี้ ไทยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษาเสถียรภาพทางการเงินในภูมิภาคและการเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ การสร้างความเชื่อมโยง ซึ่งรวมถึงการเชื่อมธุรกิจและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อย (MSMEs) เข้ากับห่วงโซ่อุปทานโลกและภูมิภาค และให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหาร และการสูงวัยอย่างมีศักยภาพ 
 
ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ ๘ ได้รับทราบความก้าวหน้าของการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการมะนิลาเพื่อต่อยอดการดำเนินการตามปฏิญญากรุงพนมเปญว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการพัฒนาภายใต้การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๖๕) รวมทั้งหารือเกี่ยวกับทิศทางความร่วมมือในอนาคตและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับ EAS ในการคงไว้ซึ่งการเป็นเวทีระดับผู้นำ สำหรับการหารือในประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ การเมือง และเศรษฐกิจที่กว้างขวาง ที่เป็นผลประโยชน์และมีข้อห่วงกังวลร่วมกันเพื่อส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยมีอาเซียนเป็นแกนกลาง นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่สำคัญต่าง ๆ เช่น แนวคิดอินโด – แปซิฟิก สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี สถานการณ์ในรัฐยะไข่ และแนวโน้มของนโยบายกีดกันทางการค้า และได้เปิดตัวเว็บไซต์ EAS (http://www.eastasiasummit.asean.org) ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเข้มแข็งให้ EAS ร่วมกับการเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างคณะผู้แทนแทนถาวรประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตาและเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิก EAS ณ กรุงจาการ์ตา 
 
อนึ่ง EAS ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๘ (ค.ศ. ๒๐๐๕) มีสมาชิก ๑๘ ประเทศ ได้แก่ ประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา โดยมีการหารือในระดับผู้นำเป็นประจำทุกปีในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 
 
ที่ประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) ครั้งที่ ๒๕ ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคอย่างกว้างขวาง เช่น สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี สถานการณ์ในรัฐยะไข่ การเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือทางทะเล และภัยคุกคามรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะการก่อการร้าย ความมั่นคงทางไซเบอร์ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวขอบคุณประเทศสมาชิก ARF สำหรับความช่วยเหลือและกำลังใจให้ทีมฟุตบอลหมูป่าอคาเดมีที่ถ้ำหลวง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนความสำคัญของการที่จะต้องมีการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะผ่านกลไกต่าง ๆ ของอาเซียน นอกจากนี้ ไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการทูตเชิงป้องกัน โดยเน้นย้ำหลักการ 3Ps ได้แก่ Prevention Protection และ Partnership ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ในทุกสถานการณ์ เช่น สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ได้ รวมทั้งได้เน้นย้ำการสร้างความยั่งยืนของการดำเนินงานในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้ความพยายามแก้ไขปัญหามีความต่อเนื่อง 
 
อนึ่ง ARF จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๗ (ค.ศ. ๑๙๙๗) มีสมาชิก ๒๗ ประเทศ ได้แก่ ประเทศสมาชิกอาเซียน สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย แคนาดา รัสเซีย สหรัฐอเมริกา ติมอร์เลสเต บังกลาเทศ ศรีลังกา ปาปัวนิวกินี ปากีสถาน มองโกเลีย และเกาหลีเหนือ โดยรัฐมนตรีต่างประเทศจะพบกันเป็นประจำทุกปีในช่วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา (AMM/PMC)

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ