รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 ส.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,989 view
เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๑ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และนิวซีแลนด์
 
ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน – ญี่ปุ่น ได้หารือเกี่ยวกับพัฒนาการความร่วมมือด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม ในโอกาสครบรอบ ๔๕ ปีความสัมพันธ์อาเซียน - ญี่ปุ่นในปีนี้ โดยเฉพาะบทบาทสำคัญของญี่ปุ่นในการช่วยลดช่องว่างด้านการพัฒนาผ่านกรอบความเชื่อมโยงต่าง ๆ ระหว่างญี่ปุ่นกับแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity - MPAC 2025) และกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาค การสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนในนสถาปัตยกรรมในภูมิภาค และความช่วยเหลือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภูมิภาค เป็นต้น
 
ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน - จีน ได้หารือเกี่ยวกับแนวทางความสัมพันธ์อาเซียน – จีน ซึ่งครบรอบ ๑๕ ปีความสัมพันธ์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และเห็นชอบให้ปี ๒๕๖๒ เป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนสื่อมวลชนอาเซียน – จีน นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงในภูมิภาคกับข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) การส่งเสริมความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ในประเด็นสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ ที่ประชุมได้รับทราบถึงความคืบหน้าของการจัดทำร่างการเจรจาเรื่องแนวปฏิบัติทะเลจีนใต้เพียงร่างเดียว (Single negotiating text) ซึ่งถือเป็นพัฒนาการเชิงบวกของความร่วมมือระหว่างกัน
 
ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน – นิวซีแลนด์ ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการอาเซียน-นิวซีแลนด์ ค.ศ. ๒๐๑๖ – ๒๐๒๐ ตามกลยุทธ์ People Strategy และ Prosperity Strategy และได้หารือถึงประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายต้องการจะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน อาทิ การเกษตร การศึกษา การเชื่อมโยงในระดับประชาชน ความมั่นคงทางไซเบอร์ และการบริหารจัดการภัยพิบัติ รวมถึงเร่งรัดการจัดทำความตกลง Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ซึ่งนิวซีแลนด์จะเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจาในเดือนตุลาคม ๒๕๖๑ ในโอกาสนี้ ฝ่ายไทยได้เสนอการขยายความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนกับนิวซีแลนด์ผ่าน ASEAN Centre on Sustainable Development Studies and Dialogue ซึ่งจะจัดตั้งที่ประเทศไทยในปี ๒๕๖๒ นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการที่จะจัดการประชุมเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ ๔๕ ปีความสัมพันธ์อาเซียน – นิวซีแลนด์ ในปี ๒๕๖๓ 
 
ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน – รัสเซีย ได้แสดงความยินดีที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ตัดสินใจจะเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - รัสเซีย ครั้งที่ ๔ และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS) ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑ ที่สิงคโปร์ ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อพัฒนาการความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้าย ความมั่นคงทางไซเบอร์ การศึกษา การดำเนินโครงการความร่วมมือในสาขาที่สำคัญ อาทิ พลังงาน การเกษตร SMEs และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นพ้องว่า สถาปัตยกรรมในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของการที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม (Inclusiveness) ความโปร่งใส การเคารพหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และความเป็นแกนกลางของอาเซียน โดยใช้กลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำ เช่น EAS และ ARF ในการรักษาสันติภาพ ส่งเสริมเสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
 
สำหรับการประชุมในวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๑ จะมีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ประกอบด้วย อินเดีย แคนาดา สาธารณรัฐเกาหลี สหภาพยุโรป (อียู) ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา รวมทั้งการประชุมรัฐมนตรี Mekong - Republic of Korea การประชุมรัฐมนตรี Lower Mekong Initiative และการประชุมรัฐมนตรี Mekong - Japan ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นประธานร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน - อียู และจะรับมอบการเป็นประเทศผู้ประสานงานของอาเซียนกับอินเดีย เป็นวาระ ๓ ปี ระหว่างปี ๒๕๖๑ – ๒๕๖๔

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ