รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๕๑

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๕๑

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 ส.ค. 2561

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,672 view
เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๑ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (ASEAN Foreign Ministers’ Meeting - AMM) ครั้งที่ ๕๑ และพิธีลงนามภาคยานุวัติสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia - TAC) กับสาธารณรัฐอาร์เจนตินา และสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน เพื่อสนับสนุนสันติภาพในภูมิภาค
 
ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๕๑ ได้แสดงความเสียใจต่อสถานการณ์อุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย และก่อให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนลาว และการเกิดแผ่นดินไหวในเกาะลอมบอก อินโดนีเซีย รวมทั้งแสดงความยินดีต่อความสำเร็จในการช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่าอคาเดมี ที่ถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย ซึ่งไทยได้แสดงความขอบคุณสำหรับความช่วยเหลือและข้อเสนอให้ความช่วยเหลือจากประเทศสมาชิกอาเซียน นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศสมาชิกในช่วงที่ผ่านมาและมีแนวโน้มจะมีมากขึ้น ซึ่งสะท้อนความท้าทายที่มีมากยิ่งขึ้น ตลอดจนความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มพูนความร่วมมือเพื่อตอบสนองต่อภัยพิบัติด้วยความรวดเร็ว ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องในหลักการกับข้อเสนอของเลขาธิการอาเซียนให้เพิ่มความเข้มแข็งให้และสนับสนุนศูนย์ประสานงานเพื่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ (AHA Centre) ที่กรุงจาการ์ตา และที่ประชุมยังให้ความสำคัญกับการเร่งสรุปการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership – RCEP) ภายในปีนี้ รวมทั้งได้รับรองเอกสารแถลงการร่วมของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 51 (Joint Communique of the 51st ASEAN Foreign Ministers’ Meeting) 
 
ในโอกาสนี้ ไทยได้รายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานในฐานะผู้ประสานงานของอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการจัดทำ (๑) Progress Report on Promoting Complementarities between the ASEAN Community Vision 2025 and the UN 2030 Agenda for Sustainable Development 2018 (๒) เอกสาร The Mapping of South-South Cooperation Projects in ASEAN ซึ่งไทยมีแผนจะเปิดตัวเอกสารดังกล่าวในช่วงการประชุม UNGA ณ นครนิวยอร์ก ในเดือนกันยายน ๒๕๖๑ และ (๓) ข้อเสนอการจัดตั้ง ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue (ACSDSD) ซึ่งไทยจะจัดตั่งในปี ๒๕๖๒ และ (๔) ผลักดันการจัดตั้งเครือข่ายสมาคมอาเซียนในแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อช่วยภาครัฐในการส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง
 
ในวันเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้เข้าร่วมพิธีลงนาม TAC กับสาธารณรัฐอาร์เจนตินา และสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน โดย TAC จัดทำขึ้นเพื่อกำหนดหลักการดำเนินความสัมพันธ์ในภูมิภาค ได้แก่ (๑) การเคารพในอำนาจอธิปไตย ความเสมอภาค และบูรณภาพแห่งดินแดน (๒) การไม่แทรกแซงกิจการภายใน (๓) การแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี (๔) การไม่ใช้หรือขู่ว่าจะใช้กำลัง และ (๕) การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน ซึ่งประเทศสมาชิกได้เชิญชวนให้ประเทศนอกภูมิภาคเข้าร่วมภาคยานุวัติ TAC เพื่อช่วยเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและส่งเสริมมาตรการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับประเทศนั้น ๆ ได้
 
สำหรับการประชุมในวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๑ จะมีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ประกอบด้วย อินเดีย แคนาดา สาธารณรัฐเกาหลี สหภาพยุโรป (อียู) ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา รวมทั้งการประชุมรัฐมนตรี Mekong - Republic of Korea การประชุมรัฐมนตรี Lower Mekong Initiative และการประชุมรัฐมนตรี Mekong - Japan ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นประธานร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน - อียู และจะรับมอบการเป็นประเทศผู้ประสานงานของอาเซียนกับอินเดีย เป็นวาระ ๓ ปี ระหว่างปี ๒๕๖๑ – ๒๕๖๔

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ