วันที่นำเข้าข้อมูล 31 มี.ค. 2560
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
๑. การหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน ครั้งที่ ๓ จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๐ ณ จังหวัดภูเก็ต โดยมีนางบุษยา มาทแล็ง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และนายหลิว เจิ้นหมิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน เป็นประธานร่วม
๒. ที่ประชุมรับทราบด้วยความพอใจต่อความก้าวหน้าในความร่วมมือนับตั้งแต่การหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน ครั้งที่ ๒ เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๗ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเฉพาะในช่วงปี ๒๕๕๘ - ๒๕๕๙ ที่เป็นปีเฉลิมฉลองครบรอบ ๔๐ ปี ความสัมพันธ์ทางการทางทูตไทย - จีน และจำนวนการแลกเปลี่ยนการเยือนที่เพิ่มขึ้น ในการนี้ สนับสนุนการแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับต่อไป
๓. ที่ประชุมยินดีที่การหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน ครั้งที่ ๓ จัดขึ้นในจังหวะเวลาที่เหมาะสม ด้วยความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับจีนที่กำลังมุ่งเข้าสู่ทศวรรษที่ ๕ และมีพัฒนาการที่เป็นรูปธรรมหลายด้าน ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อความร่วมมือในอนาคตข้างหน้า ในการนี้ ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๖๔) ซึ่งจะวางทิศทางและยกระดับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับจีนให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป
๔. ที่ประชุมรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการล่าสุดในประเทศของแต่ละฝ่ายในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะโมเดลประเทศไทย ๔.๐ (Thailand 4.0) และนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของไทย นโยบาย Made in China 2025 และข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt One Road) ของจีน สองฝ่ายเห็นพ้องว่าสันติภาพ เสถียรภาพและการพัฒนาของทั้งสองประเทศ คือ กุญแจสำคัญที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศและภูมิภาคโดยรวม นอกจากนั้น สองฝ่ายยังเห็นพ้องว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของตนสามารถส่งเสริมซึ่งกันและกัน และแสดงความพร้อมที่จะสอดประสานความพยายามของแต่ละฝ่ายเพื่อก้าวข้ามพ้นกับดักรายได้ปานกลาง นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)
๕. ที่ประชุมได้หารือในรายละเอียดเกี่ยวกับความร่วมมือทวิภาคีไทย - จีนอย่างรอบด้าน รวมถึงการเมืองและความมั่นคง การค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนแนวทางที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่าย
๕.๑ ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง ฝ่ายจีนเคารพเอกราช อธิปไตย และ บูรณภาพแห่งดินแดนของไทย ในขณะที่ฝ่ายไทยยึดมั่นในนโยบายจีนเดียวอย่างแน่วแน่ ทั้งสองฝ่ายต่างย้ำถึงความสำคัญของความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้านระหว่างไทยกับจีน และเห็นพ้องที่จะส่งเสริมการหารือและความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงทั้งในรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่ อาทิ อาชญากรรมข้ามชาติ การก่อการร้าย ความมั่นคงทางไซเบอร์ และความมั่นคงทางทะเล โดยผ่านการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและประสบการณ์ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน
๕.๒ ความร่วมมือด้านการค้าและเศรษฐกิจ ที่ประชุมรับทราบถึงแผนพัฒนาระยะ ๕ ปีว่าด้วยความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ ที่ได้รับการขยายเวลาออกไปในระหว่างการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้า การลงทุนและเศรษฐกิจไทย - จีน (JC เศรษฐกิจไทย - จีน) ครั้งที่ ๕ เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๙ ณ กรุงปักกิ่ง ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความเห็นในการส่งเสริมการค้าและการลงทุน ความเชื่อมโยงผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) พลังงาน และความร่วมมือในระดับท้องถิ่น ที่ประชุมเสนอแนะว่า ศักยภาพทางเศรษฐกิจสามารถได้รับการต่อยอดได้จากการใช้ประโยชน์จากกลไกความร่วมมือในระดับมณฑล/จังหวัดของสองประเทศ ในการนี้ ที่ประชุมรับทราบว่า ไทยมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานระหว่างไทยกับรัฐบาลมณฑลของจีนรวม ๓ คณะภายในปีนี้ ได้แก่ คณะทำงานไทย - ยูนนาน คณะทำงานไทย - เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และคณะทำงานไทย - กวางตุ้ง
๕.๓ ความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม ทั้งสองฝ่ายย้ำถึงการส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนสู่ประชาชนโดยการกระชับความร่วมมือด้านการศึกษา วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ที่ประชุมยินดีต่อข้อเสนอของไทยในการเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการ (คกร.) ไทย - จีน สมัยที่ ๒๒ ในปีนี้
๖. ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นอย่างกว้างขวางในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศที่มีความสนใจร่วมกัน อาทิ ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน - จีน (รวมถึงความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (RCEP) และเขตการค้าเสรีอาเซียน - จีน) ความเชื่อมโยงในภูมิภาค ความร่วมมือทางทะเล สถานการณ์เฉพาะในภูมิภาค รวมทั้งบทบาทของมหาอำนาจในภูมิภาค ที่ประชุมยังได้ตระหนักถึงความสอดคล้องกันระหว่างข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt One Road) ของจีนกับแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ (MPAC ๒๐๒๕) และได้เน้นย้ำว่าบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง (MLC) สามารถมีส่วนช่วยผลักดันความพยายามดังกล่าว
๗. ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อประเด็นทะเลจีนใต้และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงในทะเลจีนใต้ จีนและประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถร่วมมือกันเพื่อทำให้มั่นใจว่าปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea: DOC) จะถูกนำไปปฏิบัติอย่างครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเร่งรัดการปรึกษาหารือเพื่อทำให้มั่นใจว่า การรับรองแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct in the South China Sea: COC) จะเกิดขึ้นโดยเร็วบนพื้นฐานของฉันทามติ
๘. ที่ประชุมรับทราบพัฒนาการเชิงบวกเกี่ยวกับความร่วมมือทางทะเลในภูมิภาค และเห็นว่าการส่งเสริมความพยายามร่วมกันในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สามารถเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การบรรลุข้อเสนอของไทยในการส่งเสริมให้ทะเลจีนใต้เป็นทะเลแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของจีนต่อศูนย์วิจัยร่วมภูมิอากาศและระบบนิเวศทางทะเลไทย - จีน ที่จังหวัดภูเก็ตเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม
๙. ที่ประชุมรับทราบการเป็นเจ้าภาพการหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน ครั้งที่ ๔ ของจีน ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเวลาที่สองฝ่ายสะดวก
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **