ข้อสังเกตโดยสรุป (Concluding Observation) ของคณะกรรมการประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

ข้อสังเกตโดยสรุป (Concluding Observation) ของคณะกรรมการประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 มี.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,206 view

เมื่อวันอังคารที่ 28 มีนาคม 2560 คณะกรรมการประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ได้ออกข้อสังเกตโดยสรุป (Concluding Observations) ภายหลังจากที่คณะผู้แทนไทยได้เดินทางไปนำเสนอรายงานการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กติกา ICCPR ฉบับที่ 2 ระหว่างวันที่ 13 – 14 มีนาคม 2560 ณ นครเจนีวา

คณะกรรมการฯ ยินดีต่อการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของไทยในห้วงที่ผ่านมา อาทิ การจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 พ.ร.บ. กองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558  แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการและพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ พิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

คณะกรรมการฯ ตระหนักถึงความก้าวหน้าและให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมให้ไทยดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไปในเรื่อง อาทิ การยกเลิกโทษประหารชีวิตหรือบังคับใช้กับโทษที่มีความรุนแรงเท่านั้น การไม่บังคับส่งกลับผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติสู่อันตราย การจัดให้มีกระบวนการคัดกรองผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่มีประสิทธิภาพ การไม่กักตัวเด็กโยกย้ายถิ่นฐาน การปรับปรุงสภาพและลดความแออัดของเรือนจำและห้องกัก รวมถึงการแก้ปัญหาคนไร้รัฐ

คณะกรรมการฯ ยังได้แนะนำให้รัฐบาลไทยพิจารณาดำเนินการเพื่อส่งเสริมสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เช่น การบังคับใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) และร่างรัฐธรรมนูญฯ การผลักดันกฎหมายต่อต้านการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย การโอนคดีของพลเรือนที่เกิดขึ้นก่อนหน้าเดือนกันยายน 2559 ที่อยู่ภายใต้การพิจารณาของศาลทหารไปยังศาลยุติธรรม การลดการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสันติ เป็นต้น

ตามกระบวนการ คณะกรรมการขอรับข้อมูลจากไทยภายใน 1 ปี เกี่ยวกับพัฒนาการที่จะเกิดขึ้นในเรื่องรัฐธรรมนูญและกลไกกฎหมายต่าง ๆ การวิสามัญฆาตกรรม การทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย รวมถึงสภาพเรือนจำและสภาพห้องกัก ทั้งนี้ ไทยมีกำหนดส่งรายงานการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กติกา ICCPR ฉบับที่ 3  ในอีก 4 ปีข้างหน้า (ภายในวันที่ 29 มีนาคม 2564)

กระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการปฏิบัติตามพันธกรณีกติกา ICCPR จะนำผลการนำเสนอรายงานพร้อมข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ รัฐบาลมีความมุ่งมั่นดำเนินงานเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และดำเนินงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนไทยอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว