สนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ (Arms Trade Treaty: ATT)
1. ภูมิหลังการจัดทำ ATT
1.1 กระบวนการจัดทำ ATT เพื่อเป็นมาตรฐานสากลที่มีผลผูกพันทางกฎหมายในการแก้ไขปัญหาการค้าอาวุธอย่างผิดกฎหมาย เริ่มขึ้นในปี 2549 ในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 61 (UNGA 61) โดยกระบวนการสำคัญ ได้แก่ การประชุมคณะกรรมการเตรียมการสำหรับการจัดทำ ATT (Preparatory Committee: PrepCom) 4 ครั้ง ระหว่างปี ค.ศ. 2553-2555 เพื่อหารือประเด็นที่จะบรรจุในสนธิสัญญาฯ ซึ่งระหว่างการประชุมเตรียมการประเทศต่าง ๆ มีท่าทีที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก การประชุม UN Conference on the Arms Trade Treaty เมื่อ 2 – 27 กรกฎาคม 2555 ไม่สามารถบรรลุฉันทามติในการรับรองร่างสนธิสัญญาฯ ได้ เนื่องจากความเห็นที่แตกต่างในหลายประเด็น อาทิ การรวมกระสุนและชิ้นส่วนอยู่ในขอบเขตของสนธิสัญญาฯ คำนิยามของ non-state actor และการระบุถึงความรุนแรงด้วยปัจจัยเพศสภาวะ (gender-based violence) หรือความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก หลังจากที่การประชุมฯ ไม่สามารถบรรลุฉันทามติในการรับรองร่างสนธิสัญญาฯ ได้
ในการประชุม คณะกรรมการ 1 ของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 67 (UNGA 67) ประเทศผู้ร่วมยกร่าง (ATT Co-Authors) ได้แก่ ออสเตรเลีย อาร์เจนตินา คอสตาริกา ฟินแลนด์ ญี่ปุ่น เคนยา และสหราชอาณาจักร จึงได้เสนอร่างข้อมติ “The Arms Trade Treaty” เพื่อให้มีการจัดการประชุมเพื่อจัดทำสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธเป็นครั้งสุดท้ายระหว่างวันที่ 18-23 มีนาคม 2556 ณ สำนักงานสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก โดยใช้ร่างสนธิสัญญาฯ ซึ่งเสนอโดยประธานการประชุมฯ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2555 เป็นพื้นฐานในการเจรจา (ไทยลงคะแนนเสียงสนับสนุนร่างข้อมติ)
1.2 การประชุมสนธิสัญญาการค้าอาวุธครั้งสุดท้าย (Final UN Conference on the Arms Trade Treaty)
การประชุมเพื่อพิจารณาร่างสนธิสัญญาฯ มีขึ้นเมื่อวันที่ 18-28 มีนาคม 2556 ยังถกเถียงกันในหลายประเด็น โดยบางประเทศเห็นว่า ร่างสนธิสัญญาฯ ยังขาดความสมดุลระหว่างภาระของประเทศส่งออกและประเทศนำเข้าอาวุธ ดังนั้น ในวันสุดท้ายของการประชุม เมื่อประธานเสนอให้ที่ประชุมพิจารณารับรอง (take action) ร่างข้อตัดสินใจ (A/CONF.217/2013/L.3) ซึ่งผนวกสนธิสัญญาฯ ไว้กับข้อตัดสินใจดังกล่าว อิหร่าน เกาหลีเหนือ และซีเรีย ได้แถลงคัดค้าน (object) การรับรองร่างข้อตัดสินใจดังกล่าว ซึ่งทำให้ร่างสนธิสัญญาฯ ไม่ได้รับการรับรองจากที่ประชุมโดยฉันทามติ อย่างไรก็ตาม หลายประเทศที่สนับสนุนร่างสนธิสัญญาฯ เห็นว่า ถึงแม้ที่ประชุมจะไม่สามารถบรรลุฉันทามติได้ แต่เจตจำนงของประเทศส่วนใหญ่มีความชัดเจน จึงได้เสนอร่างข้อมติเพื่อให้ UNGA 67 พิจารณารับรองร่างสนธิสัญญาฯ
1.3 การพิจารณาร่างข้อมติสนธิสัญญาการค้าอาวุธของสมัชชาสหประชาชาติ – เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2556 ผู้แทนคอสตาริกาได้นำเสนอร่างข้อมติสนธิสัญญาการค้าอาวุธ ซึ่งมีประเทศต่าง ๆ รวม 65 ประเทศ ร่วมเสนอ ต่อที่ประชุม UNGA 67 โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่ (1) ให้การรับรองสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธซึ่งผนวกในร่างข้อตัดสินใจของการประชุมสหประชาชาติเกี่ยวกับสนธิสัญญาการค้าอาวุธครั้งสุดท้าย (2) ขอให้เลขาธิการสหประชาชาติในฐานะผู้เก็บรักษาสนธิสัญญาฯ เปิดให้ประเทศต่าง ๆ พิจารณาลงนามเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาฯ ในวันที่ 3 มิถุนายน 2556 ทั้งนี้ ที่ประชุม UNGA 67 ได้ให้การรับรองร่างข้อมติดังกล่าวโดยการลงคะแนนเสียง มีประเทศที่ลงคะแนนเสียงสนับสนุน 154 ประเทศ (รวมทั้งไทย) คัดค้าน 3 ประเทศ (ซีเรีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือ) และงดออกเสียง 23 ประเทศ[1] ทั้งนี้ การรับรอง ATT เป็นการให้การรับรองสนธิสัญญาด้านการลดอาวุธโดยการลงคะแนนเสียงเป็นครั้งแรก
2. สถานะล่าสุด
2.1 การลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ
2.1.1 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2556 สำนักเลขาธิการสหประชาชาติได้จัดพิธีลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ ณ Trusteeship Council Chamber โดยมีประเทศที่ร่วมลงนามเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ทั้งหมด 67 ประเทศ
2.1.2 ปัจจุบัน ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2556 มีประเทศที่ลงนามในสนธิสัญญาฯ ทั้งหมด 115 ประเทศ รวมทั้งสหรัฐฯ ให้สัตยาบันแล้ว 9 ประเทศ (แอนติกาและบาร์บูดา กายอานา ไอซ์แลนด์ ไนจีเรีย คอสตาริกา เม็กซิโก ตรินิแดดและโตเบโก เกรนาดา และมาลี)
2.1.3 ATT จะมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วัน หลังจากวันที่มีการฝากหนังสือให้สัตยาบัน รับ รับรอง หรือภาคยานุวัติ จำนวน 50 ฉบับ ต่อเลขาธิการสหประชาชาติ
2.2 กองทุนเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติตามพันธกรณีของ ATT
การปฏิบัติตามพันธกรณีของสนธิสัญญาฯ เป็นประเด็นที่กลุ่มประเทศผู้ผลักดัน ATT มีความกังวล จึงได้ร่วมกันจัดตั้งกองทุน United Nations Trust Facility Supporting Cooperation on Arms Regulation (UNSCAR) เพื่อสนับสนุนการปฏิบติตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ ในทุกมิติ และ UN PoA โดยในปี 2557 กองทุนนี้จะเน้นให้การสนับสนุนกระบวนการให้สัตยาบันต่อ ATT ของประเทศต่าง ๆ อาทิ กระบวนการออกกฎหมายภายในประเทศ การเสริมสร้างศักยภาพของหน่ายงาน และความช่วยเหลือทางเทคนิค ในชั้นนี้ มีประเทศที่สนับสนุนกองทุนนี้ ได้แก่ ออสเตรเลีย เดนมาร์ก เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สเปน สมาพันธรัฐสวิส และสหราชอาณาจักร
2.3 ศูนย์สันติภาพและการลดอาวุธในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (UNRCPD) ได้จัดการประชุม Second Asia Regional Meeting to Facilitate Dialogue on the Arms Trade Treaty ระหว่างวันที่ 26 - 27 พฤศจิกายน 2556 ณ กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ โดยมีผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศและสภาความมั่นคงแห่งชาติเข้าร่วม ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการลงนามและให้สัตยาบัน ATT และแนวทางในการตีความ ATT เพื่อการปฏิบัติตามพันธกรณีต่อไปเมื่อสนธิสัญญาฯ มีผลบังคับใช้
[1] จีน รัสเซีย อินเดีย เมียนมาร์ สปป. ลาว อินโดนีเซีย อังโกลา บาห์เรน เบลารุส โบลิเวีย คิวบา เอกวาดอร์ อียิปต์ ฟิจิ คูเวต นิคารากัว โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย ศรีลังกา สวาซิแลนด์ ซูดาน และเยเมน (เวียดนามไม่ร่วมลงคะแนนเสียง)