อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Anti-Personnel Mine Ban Convention)
1. ภูมิหลัง
1.1 ไทยเป็นหนึ่งใน 82 ประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ไทยได้ดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดและปลดปล่อยพื้นที่แล้วกว่า 2,000 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ 85 ทำให้เหลือพื้นที่ที่จะต้องดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดอีก 502.6 ตารางกิโลเมตร ใน 18 จังหวัด (ณ 30 สิงหาคม 2556)
1.2 ไทยเป็นหนึ่งใน 26 ประเทศที่มีผู้ประสบภัยทุ่นระเบิดจำนวนมาก จากการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการล่าสุดพบว่า ประเทศไทยมีผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดประมาณ 1,337 คน (ณ 26 มิถุนายน 2556)
1.3 ไทยเป็นรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล หรืออนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Mine Ban Convention) โดยลงนามเมื่อปี 2540 และอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ต่อไทยตั้งแต่ปี 2542
1.4 รัฐบาลไทยได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (ศทช.) เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาทุ่นระเบิดสังหารบุคคล
1.5 รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านการกวาดล้างและเก็บกู้ ทุ่นระเบิด ด้านอำนวยการ ติดตามผลงานและประเมินผล ด้านการแจ้งเตือน ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ประชาชน ด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัย และด้านการประสานงานกับต่างประเทศ
2. พันธกรณีตามอนุสัญญาฯ
พันธกรณีสำคัญที่จะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ คือ
2.1 ไม่ใช้ พัฒนา ผลิต และสะสม จัดเก็บ และโอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคลไปให้ผู้ใด ทั้งทางตรง
และทางอ้อม
2.2 ทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่เก็บสะสมไว้ในคลังทั้งหมดภายใน 4 ปี หลังจากอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้
2.3 เก็บกู้และทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่ฝังอยู่ในพื้นดินภายใน 10 ปี หลังจากอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้
2.4 ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคลทั้งทางการแพทย์ การฟื้นฟู
สภาพร่างกายและจิตใจ การฝึกและการพัฒนาศักยภาพ การจัดหาอาชีพ เพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติในสังคม
2.5 ให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายและวิธีป้องกันภัยจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Mine Risk
Education-MRE)
ทั้งนี้ ในการประชุมทบทวนอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ครั้งที่ 2 เมืองคาร์ตาเฮนา
สาธารณรัฐโคลอมเบีย เมื่อเดือนธันวาคม 2552 ที่ประชุมได้รับรองแผนปฏิบัติการคาร์ตาเฮนา ค.ศ. 2010-2014 (Cartagena Action Plan 2010 – 2014) เป็นเอกสารแนะนำแนวทางในการดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ ในระยะ 5 ปี (ปี 2553 – 2557) ที่รัฐภาคีอาจนำไปปรับใช้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯ โดยรวมถึงการส่งเสริมความเป็นสากลของอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิด การทำลายทุ่นระเบิดที่เก็บอยู่ในคลัง การเก็บกู้ทุ่นระเบิด การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด และความร่วมมือและความช่วยเหลือเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิด
3. สถานะการดำเนินการของไทยในปัจจุบัน
ไทยได้ดำเนินการด้านต่าง ๆ ตามพันธกรณีอนุสัญญาฯ ซึ่งมีความคืบหน้าดังนี้
3.1 การทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่เก็บสะสมในคลัง ได้ทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่เก็บสะสมในคลังที่มีอยู่จำนวน 337,725 ทุ่น จนหมดสิ้นตามพันธกรณีอนุสัญญาฯ แล้วเมื่อ 24 เมษายน 2546 แต่ยังคงมีเหลือไว้เพื่อใช้ในการฝึกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นการดำเนินการตามข้อบทที่ 3 (ข้อยกเว้น) ของอนุสัญญาฯ โดยไทยได้รายงานสถานะทุ่นระเบิดที่เก็บไว้ต่อฝ่ายเลขานุการฯ ทุกปี ตามพันธกรณีตามข้อบทที่ 7 (การรายงานความคืบหน้า) ของอนุสัญญาฯ
3.2 การเก็บกู้ทุ่นระเบิด เดิมไทยมีพันธกรณีตามอนุสัญญาฯ ที่ต้องเก็บกู้ทุ่นระเบิดให้หมดภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2552 แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกำหนด ไทยจึงได้ยื่นคำขอขยายระยะเวลาการเก็บกู้ทุ่นระเบิดฯ ออกไปจนถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 (ขยายออกไปอีก 9 ปี ครึ่ง) และได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ครั้งที่ 9 (9MSP) เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 ณ นครเจนีวาแล้ว ทั้งนี้ ปัจจุบัน ประเมินว่าไทยมีพื้นที่ทุ่นระเบิดที่ยังจะต้องเก็บกู้อีกประมาณ 502.6 ตร.กม. (ณ สิงหาคม 2556)
3.3 การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด ไทยถูกจัดให้เป็น 1 ใน 26 รัฐภาคีอนุสัญญาฯ ที่มีจำนวนผู้ประสบภัยมากที่สุด ซึ่งในฐานะรัฐภาคีไทยจะต้องให้การดูแลและช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ได้รับ
การช่วยเหลือทางการแพทย์ การฟื้นฟูทางร่างกายและจิตใจอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง และสามารถกลับมาดำรงชีพในสังคมได้ ในภาพรวมการดำเนินงานของไทยในด้านนี้มีความก้าวหน้าอย่างมาก แต่เป็นภารกิจที่ถูกผนวกรวมในการช่วยเหลือคนพิการและการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินในภาพรวม โดยมี พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 เป็นกลไกด้านกฎหมายที่สำคัญ ตลอดจนการดำเนินการอื่นตามพันธกรณีของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิผู้พิการ (Convention on the Right of Person with Disabilities)
3.4 การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายและวิธีป้องกันภัยจากทุ่นระเบิด (Mine Risk Education – MRE) ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ โดยหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมทั้ง 4 หน่วย เป็นหน่วยงานหลัก
3.5 บทบาทของไทยในกรอบอนุสัญญาฯ ไทยได้มีบทบาทอย่างแข็งขันภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ โดยกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่
- ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ครั้งที่ 5 (5MSP) ระหว่างวันที่ 15-19 กันยายน 2546 ที่กรุงเทพฯ และในช่วงที่ไทยทำหน้าที่ประธาน 5MSP ระหว่าง ปี 2546-2547 นั้น ไทยได้มีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในด้านการโน้มน้าวให้ประเทศที่ยังมิได้เป็นรัฐภาคีอนุสัญญาฯ เข้าร่วมเป็นภาคี (Universalizing of the Convention) และการเชื่อมโยงเรื่องการดำเนินงานด้านทุ่นระเบิดกับมิติการพัฒนา
- ในปี 2552 ไทยดำรงตำแหน่งประธานร่วมกับเบลเยี่ยม ในคณะกรรมการด้านการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยและการเข้าผนวกรวมกลับสู่สังคม (Standing Committee on Victim Assistance and Social Reintegration) นอกจากนี้ ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดสังหารบุคคลครั้งที่ 12 (MSP 12) ระหว่างวันที่ 3 – 7 ธันวาคม พ.ศ. 2555 หน่วยงานของไทยที่เป็นฝ่ายปฏิบัติทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชนพัฒนาได้จัด side event เพื่อเป็นการแบ่งปันประสบการณ์และเสนอการให้ความช่วยเหลือต่อประเทศอื่น ๆ
- ในปี 2554 ไทยดำรงตำแหน่งประธานร่วมกับแคนาดาในคณะกรรมการด้านสถานะทั่วไปและการดำเนินการตามอนุสัญญาฯ (Standing Committee on General Status and Operation)
- ปี 2555 – 2556 ไทยดำรงตำแหน่งประธานร่วมของคณะกรรมการด้านทรัพยากร ความร่วมมือและการให้ความช่วยเหลือ (Standing Committee on Resources, Cooperation and Assistance) โดยผลการดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่
· การผลักดันให้มีการจัดทำฐานข้อมูลด้านทรัพยากรและการให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศ Platform for Partnership ซึ่งฝ่ายเลขานุการอนุสัญญาฯ ได้จัดทำโดยเป็นส่วนหนึ่งของเว็บไซต์ของอนุสัญญาฯ http://www.apminebanconvention.org/platform-for-partnerships/
· เมื่อวันที่ 23 – 25 มิถุนายน 2556 ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Bangkok Symposium on Enhancing Cooperation and Assistance: Building Synergy towards Effective Anti-Personnel Mine Ban Convention Implementation ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นเวทีให้ประเทศต่าง ๆ องค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และองค์กรเอกชน ระดมสมองเพื่อหาแนวทางในการเพิ่มพูนความร่วมมือและความช่วยเหลือระหว่างประเทศในการเก็บกู้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล
4. วันทุ่นระเบิดสากล (International Day for Mine Awareness and Assistance in Mine Action)
สหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 4 เมษายน ของทุกปีเป็นวันทุ่นระเบิดสากล (International Day for Mine Awareness and Assistance in Mine Action) เพื่อสร้างความตระหนักและประชาสัมพันธ์ให้แก่ประชาชนทั่วไปรับทราบเกี่ยวกับปัญหาทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่มีอยู่ในหลายประเทศเพื่อระดมความช่วยเหลือจากนานาชาติในการร่วมขจัดปัญหาทุ่นระเบิดให้หมดสิ้นอย่างเร่งด่วน
ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่
ฝ่ายเลขานุการอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล www.apminebanconvention.org