การประชุม G-77 Bangkok Roundtable on Sufficiency Economy: An Approach to Implementing the Sustainable Development Goals

การประชุม G-77 Bangkok Roundtable on Sufficiency Economy: An Approach to Implementing the Sustainable Development Goals

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 ก.พ. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,596 view

          เมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานเปิดการประชุม  G-77 Bangkok Roundtable on Sufficiency Economy: an Approach to Implementing the Sustainable Development Goals” ณ โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการประชุมที่ประเทศไทย จัดขึ้นครั้งแรก ภายหลังจากที่ไทยได้เข้าดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม ๗๗ เมื่อต้นเดือนมกราคม ๒๕๕๙ โดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมและแจ้งวัตถุประสงค์การจัดการประชุมคือ เพื่อเผยแพร่แนวทางการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่สามารถสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติที่ผู้นำประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้ร่วมกันรับรองเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๘

          ในโอกาสนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเปิดการประชุม โดยแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาของประเทศไทยที่มีคนเป็นศูนย์กลางตามแนวทางการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันจากระดับฐานราก โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนทัศนคติและปลูกฝังแนวคิดเกี่ยวกับความยั่งยืนให้นำไปสู่การปฏิบัติ และเน้นย้ำว่าการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกภาคส่วน ทุกระดับ ทั้งประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้ว โดยได้ยกตัวอย่างการดำเนินการของภาครัฐและภาคเอกชนและนโยบายของรัฐบาลประกอบ

          ต่อมารองศาสตราจารย์ ดร. จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา ได้กล่าว  ปาฐกถาพิเศษบรรยายถึงภูมิหลังและความสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้   กล่าวถึงการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของไทยในอดีตได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผลิตภาพทางการเกษตร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่คำนึงถึงความสมดุลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแก่ชาวไทย และวิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ ทำให้สังคมไทยตระหนักและให้ความสำคัญกับแนวทาง  การพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จนได้รับการยอมรับในระดับชาติในฐานะแนวทางการพัฒนาที่สามารถยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

          การประชุมช่วงเช้าเป็นการเสวนาเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและ   ความเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายต่างๆ โดยผู้ร่วมเสวนาได้นำเสนอเกี่ยวกับ หลักการพื้นฐานแนวคิดของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การนำไปปฏิบัติเพื่อสนับสนุนบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อต่างๆ  งานวิจัยหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ของการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาระดับชุมชน ความสำคัญของการลดของเสียของเหลือจากอาหารและการแก้ปัญหาความหิวโหย ตลอดจนการปรับเปลี่ยนทัศนคติเพื่อปลูกฝังคุณค่าด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเริ่มจากโรงเรียนและการมีส่วนร่วม ของชุมชน โดยมีรัฐบาลเป็นผู้นำในการดำเนินนโยบาย 

          ในช่วงบ่ายเป็นการเสวนาเกี่ยวกับความสำเร็จในการประยุกต์ใช้แนวทางการพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงในไทยและต่างประเทศ โดยผู้ร่วมเสวนาได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาฯ ในเมียนมา เลโซโท ติมอร์-เลสเต และตัวอย่างการดำเนินการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงของไทย ซึ่งล้วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนในชุมชน

          ในช่วงรับประทานอาหารกลางวัน ศาสตราจาร์ย นพ. เทพ หิมะทองคำ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพธารินทร์ บรรยายพิเศษเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้การพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในภาคสาธารณสุข ซึ่งได้นำใช้ในการดูแลรักษาคนไข้โรคเบาหวาน นอกจากนี้ มูลนิธิมั่นพัฒนาได้ร่วมจัดนิทรรศการเพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งได้มีการนำไปประยุกต์ใช้และขับเคลื่อนทั้ง ในภาครัฐและเอกชน ตลอดจนภาคส่วนในสาขาต่าง ๆ ซึ่งได้รับความสนใจจากนายกรัฐมนตรีและผู้แทนกลุ่ม ๗๗ ที่เข้าร่วมเป็นอย่างมาก

          ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ คณะผู้แทนกลุ่ม ๗๗ ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อศึกษาดูงานด้านการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริโดยได้เรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการนำแนวคิดไปประยุกต์ด้านต่าง ๆ อาทิ การจัดการและปรับปรุงดิน การพัฒนาแหล่งน้ำ และการเพาะปลูก ตลอดจนเยี่ยมชมหมู่บ้านบ้านซ่องที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและชุมชน สร้างความเป็นผู้นำและความสามัคคีในชุมชน โดยให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้จากภาคการเกษตร ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม จนบ้านซ่องได้รับเลือกเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจชุมชน “อยู่เย็น เป็นสุข” ดีเด่น ประจำปี 2558 โดยผู้นำชุมชนและชาวบ้านซ่องได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับกลุ่ม ๗๗ ที่ได้สนใจสอบถามในประเด็นต่าง ๆ อย่างเป็นกันเอง 

          การประชุมดังกล่าวประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง มีผู้เข้าร่วมทั้งหมดมากกว่า ๑๙๐ คน แบ่งเป็นผู้แทนจากประเทศกลุ่ม ๗๗ ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากคณะผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สถานเอกอัครราชทูตในกรุงเทพฯ และผู้เชี่ยวชาญจากเมืองหลวง  ผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ ตลอดจน  หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาควิชาการไทยและต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ