การประชุม G-77 Meeting of Experts on ICT and Sustainable Development for South-South Cooperation

การประชุม G-77 Meeting of Experts on ICT and Sustainable Development for South-South Cooperation

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 มี.ค. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,440 view

          เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๙ กระทรวงการต่างประเทศจัดการประชุม G-77 Meeting of Experts on ICT and Sustainable Development for South - South Cooperation ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ โดยมีนายวิทวัส ศรีวิหค รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าวเปิดการประชุม และศาสตราจารย์ ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นผู้กล่าวปาฐกถา

          การประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมประมาณ ๘๐ คน ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)  จากหลายภูมิภาคทั่วโลก เจ้าหน้าที่คณะผู้แทนถาวรประเทศต่าง ๆ ประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตประเทศต่าง ๆ ประจำประเทศไทยและองค์การระหว่างประเทศที่มีสำนักงานในประเทศไทย รวมทั้งส่วนราชการไทยที่เกี่ยวข้อง

          การประชุมแบ่งออกเป็น ๓ หัวข้อหลัก ได้แก่ (๑) การส่งเสริมการเข้าถึง ICT และอินเทอร์เน็ตในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาอินเทอร์เน็ตให้รองรับภาษาท้องถิ่นอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อขยายจำนวนผู้ใช้งาน ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องถึงความสำคัญที่จะต้องร่วมมือผลักดันเรื่องดังกล่าว และตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางภาษา ในฐานะเครื่องมือที่จะอนุรักษ์ไว้ซึ่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม (๒) การใช้ ICT ในการพัฒนาสังคม โดยไทยได้นำเสนอตัวอย่างโครงการการศึกษาทางไกลอันเป็นโครงการในพระราชดำริ ซึ่งผู้เข้าร่วมการประชุมแสดงความชื่นชมวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ (๓) การใช้ ICT ในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า ลดต้นทุนทางธุรกรรม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศกำลังพัฒนา

          นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๙ คณะผู้เข้าร่วมการประชุมชาวต่างชาติเดินทางไปอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี เพื่อศึกษาดูงานโครงการใช้ ICT ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย โดยแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มหลัก ได้แก่ (๑) Smart Farm คือ การนำ ICT มาสนับสนุนภาคเกษตรกรรม ทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติ เช่น การแบ่งเขตการเกษตร (zonal mapping) การคำนวณความคุ้มค่าในการเพาะปลูกพืชประเภทต่าง ๆ การบูรณาการฐานข้อมูลเกษตรกรและผลผลิต การพัฒนาอุปกรณ์และแอพพลิเคชั่นในการวิเคราะห์คุณภาพของพืชผลต่าง ๆ ในระยะเวลาที่รวดเร็ว เป็นต้น (๒) Smart Health คือ การใช้ ICT ในการรักษาพยาบาล รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้ที่มีอุปสรรคทางกายภาพ เช่น ผู้พิการ และผู้สูงอายุ เป็นต้น โดยมีการสาธิตสิ่งประดิษฐ์และผลงานวิจัยต่าง ๆ ได้แก่ เข่าเทียม อุปกรณ์ช่วยฟัง เก้าอี้ทำฟัน มุ้งกันยุงนาโน และบริการเรียกแพทย์ฉุกเฉิน

          การประชุมและการศึกษาดูงานข้างต้นประสบความสำเร็จในการส่งเสริมบทบาทเชิงรุกของไทยในการผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศกลุ่ม 77 ด้าน ICT เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน  ในฐานะที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม ๗๗ วาระปี ๒๕๕๙ นอกจากนี้ ไทยยังได้แสดงให้เห็นถึงตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในการนำ ICT มาส่งเสริมการพัฒนาในด้านต่างๆ  ซึ่งผู้แทนหลายประเทศแสดงความสนใจที่จะริเริ่มความร่วมมือกับไทยเพื่อนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้เข้ากับความต้องการในประเทศของตนต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ