รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 ก.พ. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 3,452 view

เมื่อวันที่ ๒๖-๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Foreign Ministers’ Retreat—AMM Retreat) ที่เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยในปีนี้ สปป.ลาวในฐานะประธานอาเซียน ได้กำหนดหัวข้อหลักของการเป็นประธานว่า “เปลี่ยนวิสัยทัศน์ไปสู่ความจริงเพื่อประชาคมอาเซียนที่มีพลวัต” (Turning Vision into Reality for a Dynamic ASEAN Community) การประชุมแบ่งเป็น ๒ ช่วงหารือ ดังนี้

ช่วงที่ ๑ ประเด็นภายในอาเซียนและประเด็นเร่งด่วนในปี ๒๕๕๙ ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของ สปป.ลาว ที่ประชุมเห็นพ้องถึงการสร้างประชาคมอาเซียนโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และสร้างความตื่นตัว และเพิ่มบทบาทของประชาชน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำหลักการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง และลดช่องว่างการพัฒนา

ประเทศไทยเห็นว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องเป็นส่วนสำคัญของการสร้างประชาคมอาเซียน ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals—SDGs) ของสหประชาชาติ โดยที่ประชุมมอบหมายให้ไทยเป็นผู้ประสานงานระหว่างอาเซียนกับองค์กรที่เกี่ยวข้องของสหประชาชาติในการหารือเกี่ยวกับการผลักดันวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาค

ประเทศสมาชิกยังควรเร่งเสริมสร้างความเชื่อมโยง ทั้งในด้านเส้นทางคมนาคมขนส่งและในด้านกฎระเบียบ เพื่อให้ประชาคมอาเซียนสามารถเป็นฐานการผลิตและตลาดร่วมได้อย่างแท้จริง พร้อมกันนี้ ประเทศสมาชิกก็จำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือต่อภัยคุกคามที่อาจเกิดจากความเชื่อมโยงที่มากขึ้น อาทิ การบริหารจัดการชายแดน อาชญากรรมข้ามชาติ ความมั่นคงทางไซเบอร์ เป็นต้น

ที่ประชุมได้หารือถึง “วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ๒๐๒๕” และเห็นว่าแผนยุทธศาสตร์ของประเทศสมาชิกควรสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ดังกล่าว นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ให้การสนับสนุนประเด็นเร่งด่วนที่ลาวในฐานะประธานอาเซียนให้ความสำคัญ เพื่อส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาคมอาเซียน ได้แก่ การดำเนินการตาม “วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ๒๐๒๕” การลดช่องว่างการพัฒนา การอำนวยความสะดวกด้านการค้า การส่งเสริมและพัฒนา SMEs วาระด้านการเชื่อมโยงภายหลังปี ๒๐๑๕ การท่องเที่ยว การจ้างงานและสร้างงาน และการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของอาเซียน

ช่วงที่ ๒ ประเด็นความสัมพันธ์กับภาคีภายนอกและความเป็นแกนกลางของอาเซียน ที่ประชุมได้ย้ำความสำคัญของความเป็นแกนกลางของอาเซียนในโครงสร้างความสัมพันธ์ระดับภูมิภาคที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศต่าง ๆ แสดงความสนใจที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียนในระดับต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยได้เสนอให้อาเซียนมีการประสานงานกันมากขึ้นและมีท่าทีร่วมกันก่อนการประชุมต่าง ๆ กับประเทศคู่เจรจา เพื่อให้อาเซียนสามารถเป็นผู้กำหนดทิศทางของการหารือและผลักดันผลประโยชน์ของอาเซียนได้

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือกันถึงแนวทางการดำเนินความสัมพันธ์กับภาคีใหม่ที่แสดงความสนใจมีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน ในการนี้ ไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-สหภาพยุโรป ได้รายงานความคืบหน้าและหารือเกี่ยวกับการเตรียมการการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน-อียู (ASEAN-EU Ministerial Meeting—AEMM) ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในช่วงปลายปีนี้ด้วย

ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างบทบาทนำของอาเซียนในภูมิภาค โดยเฉพาะการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ และความท้าทายต่าง ๆ อาทิ การก่อการร้าย ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ และพัฒนาการของสถานการณ์ในภูมิภาค รวมถึงสถานการณ์ในตะวันออกกลางคาบสมุทรเกาหลี และทะเลจีนใต้
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ