วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ต.ค. 2558
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๒๕ – ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๘ ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือ (JC) ไทย – ลาว ครั้งที่ ๒๐ ที่จังหวัดเชียงราย โดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายทองลุน สีสุลิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว เป็นประธานร่วม โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของฝ่ายไทยและลาวเข้าร่วมการประชุมฯ กว่า ๑๓๐ คน
ทั้งสองฝ่ายผลักดันความร่วมมือในมิติต่าง ๆ ภายใต้ประเด็นหลักคือ “การพัฒนาความเชื่อมโยงข้ามแดนไทย – ลาว” กล่าวคือ ในด้านการเมืองและความมั่นคง สองฝ่ายเห็นพ้องในการเสริมสร้างความมั่นคงตามแนวชายแดนร่วมกันและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนตามแนวชายแดนโดยการอำนวยความสะดวกให้แรงงานลาวเข้ามาทำงานตามพื้นที่แนวชายแดนแบบไปเช้าเย็นกลับหรือแรงงานตามฤดูกาล รวมทั้งไทยยินดีให้ความร่วมมือด้านวิชาการเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานลาวที่เป็นประโยชน์ต่อนายจ้างไทยและให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์อย่างถูกต้องและเหมาะสมด้วย สองฝ่ายจึงตกลงที่จะลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงบริเวณชายแดนระหว่างไทยกับลาวในโอกาสแรก และกำลังจะเจรจาหาข้อสรุปความตกลงที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางข้ามแดนไทย – ลาวและความร่วมมือด้านการจ้างงานแรงงานไทย – ลาว ในด้านเศรษฐกิจ ที่ประชุมฯ หารือแนวทางส่งเสริมการขยายค้าชายแดนระหว่างไทยกับลาวซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ ๘๖ ของการค้ารวมในปี ๒๕๕๗ โดยให้มุกดาหาร – สะหวันนะเขตเป็นพื้นที่นำร่องตามข้อเสนอของฝ่ายไทยให้จัดทำยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองหน้าด่านชายแดนไทยและสปป.ลาว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการเชื่อมโยงเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษไทย – ลาวด้วย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้เร่งรัดการสำรวจเส้นทางร่วมกันระหว่างไทย ลาว และเวียดนาม เพื่อให้เปิดบริการรถโดยสารประจำทางเชื่อมโยงระหว่างสามประเทศโดยเร็ว
ในด้านการท่องเที่ยว ฝ่ายไทยได้นำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นสำหรับการพัฒนาความเชื่อมโยงการท่องเที่ยวข้ามแดนไทย – ลาว บริเวณภูชี้ฟ้า ภูชี้ดาว จังหวัดเชียงราย และบริเวณบ้านฮวก – กิ่วฮก จังหวัดพะเยา เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาการเชื่อมโยงท่องเที่ยวข้ามแดนไทย – ลาวสำหรับพื้นที่ชายแดนไทย – ลาวในบริเวณอื่น ๆ ต่อไป โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยได้ร่วมกันสำรวจและศึกษาโดยเล็งเห็นศักยภาพในการเชื่อมต่อเส้นทางท่องเที่ยววิถีธรรมชาติจากไทยไปยังลาวและเชื่อมต่อไปยังเวียดนามโดยฝ่ายลาวสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวพร้อมทั้งขอให้พิจารณาการเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวจากลาวไปยังเมียนมาร์และจีนอีกด้วย
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมฯ เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๘ ประธานร่วมของทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการจัดตั้งศูนย์พัฒนาสังคมมิตรภาพลาว – ไทย ซึ่งไทยได้ให้การสนับสนุนการก่อสร้างอาคารศูนย์และพัฒนาบุคลากรเพื่อส่งเสริมการดูแลและฟื้นฟูผู้ได้รับความเสียหายจากขบวนการค้ามนุษย์ ศูนย์ดังกล่าวจะตั้งอยู่ที่เมืองโพนโฮง แขวงเวียงจันทน์ และจะเป็นศูนย์แห่งแรกใน สปป.ลาว
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เชิญรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว และคณะเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงข้ามแดนไทย – ลาว ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวภูชี้ฟ้า อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีการจัดกิจกรรมวัฒนธรรมและการแสดงสินค้าพื้นบ้านที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมร่วมของสองประเทศที่เป็นจุดเด่นในการพัฒนาพื้นที่ชายแดนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวร่วมกัน โดยนายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายได้ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมงาน โดยมีผู้เข้าร่วมงานดังกล่าวกว่า ๕๐๐ คน
และเมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ตอบรับคำเชิญของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว เข้าร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์ “อาคาร ๖๕ ปี ความสัมพันธ์ลาว – ไทย” (อาคารผู้ป่วยในและแม่และเด็ก ๖๐ เตียง) ที่โรงพยาบาลแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ซึ่งเป็นการสนับสนุนการพัฒนาด้านสาธารณสุขใน สปป.ลาว ภายใต้โครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย – ลาว ระยะที่ ๒ เพื่อให้โรงพยาบาลประจำแขวงบ่อแก้วสามารถให้บริการแก่ทางการแพทย์ให้แก่ประชาชนลาวในแขวงบ่อแก้วและแขวงใกล้เคียงได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
การจัดประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย – ลาว ครั้งที่ ๒๐ และกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้น แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงข้ามแดนระหว่างสองประเทศที่เป็นพื้นฐานความร่วมมือระหว่างไทยกับลาวและเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและแน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศต่อไป
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **