การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ ๑๓ และการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ ๔

การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ ๑๓ และการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ ๔

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ต.ค. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 4,160 view

         เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๘ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางเยือนมาเลเซียเพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (Joint Commission for Bilateral Cooperation : JC) ครั้งที่ ๑๓ และการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน (Joint Development Strategy for Border Areas : JDS) ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ ๔ กับดาโต๊ะ ซรี อะนิฟาห์ บิน ฮัจญี อามาน (Dato’ Sri Anifah Bin Haji Aman) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย โดยให้ความสำคัญกับการติดตามและเร่งรัดการดำเนินความร่วมมือภายใต้ทั้งสองกรอบการประชุมดังกล่าว เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมหารือประจำปี ครั้งที่ ๖ ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในช่วงต้นปี ๒๕๕๙ ซึ่งไทยมีกำหนดเป็นเจ้าภาพ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
         ๑. การประชุม JDS ไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ ๔
               ๑.๑ ทั้งสองฝ่ายได้ย้ำความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงในระเบียงเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนของสองประเทศ (จังหวัดสงขลา-รัฐปะลิส จังหวัดสตูล-รัฐปะลิส จังหวัดนราธิวาส-รัฐกลันตัน จังหวัดยะลา-รัฐเประ และจังหวัดสงขลา-รัฐเกดะห์) อาทิ การจัดพิธีเปิดด่านบ้านประกอบ (จังหวัดสงขลา) – ดุเรียนบุหรง (รัฐเกดะห์) โดยเห็นชอบที่จะเชิญนายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายทำพิธีเปิดด่านอย่างเป็นทางการในการประชุมประจำปีครั้งที่ ๖ ระหว่างนายกรัฐมนตรีที่ประเทศไทยในต้นปี ๒๕๕๙  การขยายพื้นที่ด่านสะเดา – บูกิตกายูฮิตัมการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก ๒ แห่ง เชื่อมโยงระหว่างจังหวัดนราธิวาสกับรัฐกลันตัน ที่ตากใบ-เปิงกาลันกุโบร์และสุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง โดยที่ประชุมเห็นชอบที่จะเชิญนายกรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างสะพานทั้งสองแห่งในปลายปี ๒๕๕๙
               ๑.๒ การเร่งรัดการยกร่างแผนขับเคลื่อน JDS ฉบับที่ ๒ ให้ครอบคลุม ๘ สาขาความร่วมมือ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน การค้าและการลงทุน การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการเกษตร การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พลังงาน การเงินและการธนาคารอิสลาม และอุตสาหกรรมฮาลาล
               ๑.๓ เร่งการบูรณาการเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ระหว่างอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และจังหวัดนราธิวาสกับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ใน ๔ รัฐของมาเลเซีย (บูกิตกายูฮิยัม ดุเรียนบุหรง เปิงกาลันฮูลู เปิงกาลันกุโบร์)
                ๑.๔ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างโครงการเมืองยางพารา ณ นิคมอุตสาหกรรมฉลุง จังหวัดสงขลา และ Ladang Bukit Ketapang รัฐเกดะห์ โดยให้หน่วยงานภาครัฐพบหารือ และจัดการศึกษาดูงานในพื้นที่โครงการให้แก่ภาคเอกชนไทยและมาเลเซีย เพื่อพิจารณาแนวส่งเสริมการลงทุนในโครงการ
               ๑.๕ ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการฝึกอบรมในพื้นที่ และพัฒนาการฝึกอบรมด้านวิชาชีพแก่เยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้รับการอบรมและผู้ว่าจ้าง
         ๒. การประชุม JC ไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ ๑๓
              ๒.๑ เร่งรัดการจัดทำร่างความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงในรอบด้าน และหาข้อสรุปร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ เพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในพื้นที่ชายแดน
              ๒.๒ เร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการค้ามูลค่า ๓ หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี ๒๕๖๑ และติดตามผลการพิจารณาจากมาเลเซียในการนำเข้าข้าวจากไทยทางบก ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพอาหารฮาลาลแห่งชาติกับ Halal Industry Development Cooperation ของมาเลเซีย และส่งเสริมการจัดตั้ง Thailand-Malaysia Halal Business Council
             ๒.๓ ส่งเสริมความเชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทางบก ทางเรือ และทางอากาศ รวมถึงการท่องเที่ยวทางเรือสำราญ
             ๒.๔ ส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาโดยต่ออายุบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา และการพัฒนาหลักสูตรอิสลามศึกษาในจังหวัดชายแดนใต้
             ๒.๕ เห็นชอบกับข้อเสนอความร่วมมือใหม่ อาทิ การจัดทำบันทึกความร่วมมือด้านประมง การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อแก้ไขสถานการณ์หมอกควันในภูมิภาค โดยมาเลเซียพร้อมสนับสนุนข้อมูลการวัดฝุ่นละออง ของ application Air4ASEAN ที่จัดทำโดยไทย และการอนุรักษ์สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์และการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ
ไทยและมาเลเซีย มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและยาวนาน โดยการพบหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายจำนวน ๕ ครั้งในช่วงปีที่ผ่านมาได้ช่วยกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ปัจจุบันมาเลเซียเป็นคู่ค้าอันดับ ๔ ของไทย และไทยเป็นคู่ค้าอันดับ ๕ ของมาเลเซียในปี ๒๕๕๗ การค้ารวมระหว่างสองประเทศมีมูลค่าประมาณ ๒.๕๕ หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียจัดอยู่ในอันดับ ๒ ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทย โดยในปี ๒๕๕๗ มีนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียเดินทางมาไทยกว่า ๒,๖๐๓,๖๗๑ คน
 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ