เลขาธิการ BIMSTEC และกลุ่มนักวิชาการ BIMSTEC เข้าเยี่ยมคารวะปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

เลขาธิการ BIMSTEC และกลุ่มนักวิชาการ BIMSTEC เข้าเยี่ยมคารวะปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ต.ค. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,755 view

          เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๘ นายสุมิธ นาคันดาลา เลขาธิการ Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation (BIMSTEC) และกลุ่มนักวิชาการ BIMSTEC จาก ๗ ประเทศสมาชิกได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมาร์ เนปาล ไทยและศรีลังกา ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายอภิชาติ ชินวรรโณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ที่กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อรายงานผลการประชุม BIMSTEC Network of Policy Think Tanks ครั้งที่ ๒ ซึ่งจัดโดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศและศูนย์อินเดียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ ๘ - ๙ ตุลาคม ๒๕๕๘ ที่กรุงเทพฯ

          การประชุมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักวิชาการจากกลุ่มประเทศ BIMSTEC ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมหารือเกี่ยวกับแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือและจัดการกับอุปสรรค ที่มีต่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกรอบความร่วมมือ BIMSTEC ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่า BIMSTEC ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาความร่วมมือสาขาการปฏิสัมพันธ์ระดับประชาชนก่อนสาขาความร่วมมืออื่น ๆ โดยเริ่มจากกิจกรรมต่าง ๆ ทางด้านสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนรู้จักและเข้าใจถึงบทบาทความสำคัญของ BIMSTEC มากยิ่งขึ้น ในโอกาสเดียวกัน นักวิชาการประเทศสมาชิก BIMSTEC ได้เสนอแนะโครงการ/ กิจกรรมต่างๆ อาทิ การค้นคว้าวิจัยร่วมในสาขาความร่วมมือ การจัดตั้งโครงการเยาวชนแลกเปลี่ยน โครงการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โครงการเทศกาลภาพยนตร์และอาหารประเทศสมาชิก BIMSTEC การจัดทำหนังสือเกี่ยวกับมุมมองด้านสังคมและวัฒนธรรมของประชาชนในภูมิภาคอ่าวเบงกอล การจัดการบรรยาย/ สัมมนา เนื่องในโอกาสวันก่อตั้งกรอบความร่วมมือ BIMSTEC เป็นประจำทุกปี

          ในการนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้กลุ่ม BIMSTEC Think Tanks ศึกษาค้นคว้าและนำเสนอผลงานวิจัยเพื่อช่วยกำหนดนโยบายเกี่ยวกับสาขาความร่วมมือที่สำคัญของ BIMSTEC ๓ ด้าน สำหรับปี ๒๕๕๙ ได้แก่ ๑. สาขาการปฏิสัมพันธ์ระดับประชาชน (People to People Contacts) ๒. การสร้างห่วงโซ่คุณค่าในภูมิภาค (Regional Value Chains) และ ๓. ความเชื่อมโยงในภูมิภาค (Regional Connectivity) นอกจากนี้ ที่ประชุมเสนอแนะการสร้างอัตลักษณ์ “Branding of BIMSTEC” โดยเชื่อว่า BIMSTEC มีลักษณะที่โดดเด่นเฉพาะตัว หากใช้สื่อต่าง ๆประชาสัมพันธ์ข้อมูลและข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับ BIMSTEC ก็จะเป็นการช่วยให้ประชาชนเข้าถึง BIMSTEC ได้ง่ายยิ่งขึ้น เช่น การใช้สื่อออนไลน์ต่างๆ สื่อหนังสือพิมพ์ และการสร้าง web-based การจัดทำ BIMSTEC Newsletter เป็นต้น

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ