รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีในกรอบความร่วมมืออาเซียน ในระหว่างเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๐

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีในกรอบความร่วมมืออาเซียน ในระหว่างเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๐

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ต.ค. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 3,064 view

          ในระหว่างการเยือนนครนิวยอร์กเพื่อเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๐ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีในกรอบความร่วมมืออาเซียน โดยมีรายละเอียดดังนี้
         ๑. การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอย่างไม่เป็นทางการ (Informal ASEAN Ministerial Meeting : IAMM) เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๘
ที่ประชุมได้แสดงความยินดีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในโอกาสดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และหารือถึงแนวทางการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุมระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติในหลายมิติ เพื่อบรรลุการเป็นประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางในปลายปี ๒๕๕๘ นี้ และได้รับรองแผนงานในการเสริมสร้างความเป็นแกนกลางของอาเซียนซึ่งเน้นย้ำความสำคัญของการให้อาเซียนเป็นแกนกลางในสถาปัตยกรรมในภูมิภาค นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นพ้องที่จะให้การสนับสนุนไทยในฐานะประเทศผู้แทนอาเซียนในการสมัครเข้ารับตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรของมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ (United Nations Security Council - UNSC) สำหรับวาระปี ๒๕๖๐ – ๒๕๖๑ และได้เห็นพ้องที่จะให้คณะผู้แทนถาวรของประเทศสมาชิกอาเซียนในนครนิวยอร์คประสานงานระหว่างกันอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยสนับสนุนการเลือกตั้ง
            รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการที่อาเซียนจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก เพื่อที่จะรักษาบทบาทของอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศ โดยการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับกลุ่มต่าง ๆ อาทิ Gulf Cooperation Council (GCC) ASEAN Pacific Alliance ตลอดจนต้องหาจุดยืนร่วมกันในประเด็นท้าทาย อาทิ การพัฒนาอย่างยั่งยืน การรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ และการบริหารจัดการภัยพิบัติ ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติอย่างครอบคลุม ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม
         ๒. การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับเลขาธิการสหประชาชาติและประธานสมัชชาสหประชาชาติ UNGA สมัยที่ ๗๐ (ASEAN UN Minister Meeting : AUMM) เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๘
            ที่ประชุมได้เห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติอย่างครอบคลุม ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม-วัฒนธรรม และได้แสวงหาแนวทางที่จะทำให้วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ๒๐๑๕ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาหลังปี ๒๐๑๕ ของสหประชาชาติ รวมถึงประสานความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายเพื่อรับมือกับประเด็นท้าทาย อาทิ การพัฒนาที่ยั่งยืน การบริหารจัดการภัยพิบัติ การรับมือกับอาชญากรรมข้ามชาติ อาทิ ยาเสพติด การค้ามนุษย์ ตามปฏิญญาร่วมว่าด้วยความร่วมมืออย่างครอบคลุมระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ ที่ได้มีการรับรองเมื่อปี ๒๕๕๔ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับรองแถลงการณ์รัฐมนตรีอาเซียนเนื่องในโอกาสครบรอบ ๗๐ ปี ของสหประชาชาติ เพื่อยืนยันความร่วมมือระหว่างกัน 
             เลขาธิการสหประชาชาติได้กล่าวว่าเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) กับเป้าหมายการพัฒนาของอาเซียนหลังปี ๒๐๑๕ สามารถสอดประสานกันได้ และได้กล่าวชื่มชมอาเซียนในฐานะตัวอย่างที่ดีของการพัฒนา และการรับรอง SDGs โดยผู้นำในการประชุม UN Development Summit ได้สร้างแรงจูงใจทางการเมืองต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญคือการรักษาไว้ซึ่งพลวัตของการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายกลไกของสหประชาชาติ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหประชาชาติอย่างครอบคลุม ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม และการประสานวิสัยทัศน์ภายหลังปี ๒๐๑๕ ของอาเซียนและสหประชาชาติ ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายในประเด็นสำคัญ อาทิ การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน การแก้ปัญหาผู้ย้ายถิ่นฐานอย่างไม่ปกติ และการรับมือการก่อการร้ายนอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวว่ากลไกต่างๆ ของสหประชาชาติ อาทิ UNESCAP สามารถช่วยสนับสนุนในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของอาเซียนได้ และหวังว่าประเทศสมาชิกอาเซียนจะนำเอา SDGs ไปผนวกรวมกับนโยบายในการพัฒนาของแต่ละประเทศ
         ๓. การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐฯ อย่างไม่เป็นทางการ (Informal ASEAN-US Ministerial Meeting) เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๘
             รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ชื่นชมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียนและเน้นย้ำว่าสหรัฐฯ ให้ความสำคัญต่อการรักษาไว้ซึ่งเอกภาพของและบทบาทนำของอาเซียนในภูมิภาค และพร้อมให้การสนับสนุนการเป็นประชาคมอาเซียน ทั้งนี้ ประเด็นความร่วมมือสำคัญที่ควรมีการส่งเสริมคือความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนในทุกระดับ รวมไปถึงกลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ว่าอนาคตของอาเซียนและสหรัฐฯ มีความเกี่ยวโยงและช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยเน้นย้ำความสำคัญของการรักษาไว้ซึ่งหลักนิติธรรม โดยเห็นว่าการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและสหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์จะช่วยส่งสัญญานว่าอาเซียนและสหรัฐจะสามารถเสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาคได้
              ที่ประชุมได้หารือแนวทางการยกระดับความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ รวมถึงการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการตามความเป็นหุ้นส่วนที่เพิ่มพูนระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ ตลอดจนแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นความมั่นคงรูปแบบใหม่ อาทิ การต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
             รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำความสำคัญของการส่งเสริมการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่าย และการส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในการรับมือประเด็นท้าทายรูปแบบใหม่ อาทิความมั่นคงทางทะเล การค้ามนุษย์ (โดยการแก้ไขปัญหาจากประเทศต้นทาง ประเทศทางผ่าน
และประเทศปลายทาง การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อการร้าย ตลอดจนการรับมือกับการประมงที่ผิดกฏหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) โดยไทยพร้อมจะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับอาเซียนและสหรัฐฯ ในประเด็นเหล่านี้ต่อไป
         ๔. การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance) ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๘
             รัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนและประเทศกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (ชิลี เม็กซิโก เปรู และโคลอมเบีย) ได้เน้นย้ำถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของสองภูมิภาค ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ ๗ และ ๘ ของโลก และช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกันผ่านการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และกีฬา
             รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำความมุ่งมั่นของไทยในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองฝ่าย โดยไทยเป็นหนึ่งในสามประเทศสมาชิกอาเซียน (หลังจากอินโดนีเซียและสิงคโปร์) ที่ได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์ของกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก ทั้งนี้ ไทยพร้อมที่รับตำแหน่งประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิกในปีหน้า และจะมุ่งที่จะส่งเสริมพลวัตของความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมร่วมกันต่อไป
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ