รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พบหารือทวิภาคีระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พบหารือทวิภาคีระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,165 view

         เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๘ ในระหว่างการเยือนนครนิวยอร์กเพื่อเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๐ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้หารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจากหลายประเทศ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
         ๑. การหารือทวิภาคีกับนายฮิวโก สไวร์ (Hugo Swire) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร
            นายสไวร์ได้เข้าพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และกล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์ โดยที่ผ่านมาสหราชอาณาจักรได้ให้การสนับสนุนด้านเทคนิค และยินดีให้ความร่วมมือเพิ่มเติมหากได้รับการร้องขอ และเน้นย้ำความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่ยังคงใกล้ชิดในทุกมิติ และดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนครบรอบ ๑๖๐ ปี ในปีนี้ โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นถึงแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในทุกด้าน โดยนายสไวร์ได้รับทราบความคืบหน้าของ Roadmap และหวังว่าไทยจะประสบความสำเร็จในการปฏิรูป ทั้งนี้ ทางสหราชอาณาจักรพร้อมเสนอให้การช่วยเหลือด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนตามความเหมาะสม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเห็นว่าความเชี่ยวชาญด้านการร่างรัฐธรรมนูญและการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นอาจเป็นประโยชน์ นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรได้เสนอโครงการที่จะส่งบุคลากรสอนภาษาอังกฤษมายังประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนแสวงหาแนวทางในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกันยิ่งขึ้นไป นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องถึงความสำคัญของการจัดการประชุมหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-สหราชอาณาจักร ครั้งที่ ๒ ในโอกาสแรก
         ๒. การหารือทวิภาคีกับนายยุน บยองเซ (Yun Byung-se) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)
             นายบยองเซได้กล่าวชื่นชมไทยที่เคยมีบทบาทในการส่งทหารเข้าร่วมกองกำลังสหประชาชาติในสงครามเกาหลี ซึ่งเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้เกาหลีใต้พิจารณาที่จะส่งทหารช่างเข้าร่วมภารกิจรักษาสันติภาพในกรอบสหประชาชาติเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในเรื่องของการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นถึงแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาค โดยเฉพาะกรอบความร่วมมืออาเซียน-เกาหลีใต้ ให้มากขึ้น และได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมความมั่นคงในภูมิภาคผ่านความกรอบความร่วมมือต่าง ๆ และได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาค และได้กล่าวเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนเกาหลีใต้ในโอกาสแรกเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน
             รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เห็นพ้องถึงความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน โดยเห็นว่าเกาหลีใต้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศให้เป็นที่รู้จักและนิยมทั่วโลก จึงหวังที่จะเรียนรู้จากเกาหลีใต้ในด้านนี้
         ๓. การหารือทวิภาคีกับนายเยอร์ลาน เบเคโชวิช อับดุลยาเดฟ (Erlan Bekeshovich Abdyldaev) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐคีร์กีซ
             นายอับดุลยาเดฟกล่าวว่า ตนเคยเป็นเอกอัครราชทูตที่มีเขตอาณาดูแลประเทศไทย จึงทำให้มีความรู้สึกผูกพันกับประเทศไทยและประสงค์ที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกันยิ่งขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือทั้งทวิภาคีและพหุภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว ที่ยังมีศักยภาพเติบโตอีกมาก โดยชาวคีร์กีซมีความชื่นชอบการท่องเที่ยวในประเทศไทย ทั้งนี้ ในด้านความร่วมมือพหุภาคี ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้มีการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรอบความร่วมมือ Asia Cooperation Dialogue (ACD) ซึ่งคีร์กีซสถานเป็นสมาชิก โดยหนึ่งในสาขาความร่วมมือสำคัญคือการส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค ซึ่งคีร์กีซสถานยินดีที่ไทยได้ร่วมจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสในระหว่างการประชุมสหประชาชาติในครั้งนี้ ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือ นอกจากนี้ นายอับดุลยาเดฟได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนคีร์กีซสถานเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกัน
         ๔. การหารือทวิภาคีกับนายโมนส์ ลุคเคอทอฟท์ (Mogens Lykketoft) ประธานสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๐
             นายลุคเคอทอฟท์ได้แสดงความยินดีที่ไทยได้รับตำแหน่งประธานกลุ่ม G77 ซึ่งจะเริ่มดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. โดยเห็นว่ากลุ่ม G77 ซึ่งประกอบด้วยประเทศกว่า ๑๓๔ ประเทศนั้น นับเป็นเสียงส่วนใหญ่และมีความสำคัญในเวทีระหว่างประเทศ โดยตนมีความเชื่อมั่นว่าไทยจะสามารถดำรงตำแหน่งประธานได้อย่างดี และจะสามารถแสดงบทบาทผู้นำและเป็นสะพานเชื่อม (bridge builder) ระหว่างกลุ่มประเทศต่าง ๆ และได้กล่าวชื่นชมประสบการณ์ในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของไทย และแสดงความพร้อมที่ประสานงานอย่างใกล้ชิดเพื่อร่วมมือกับไทยในการส่งเสริมการพัฒนาภายใต้กรอบความร่วมมือสหประชาชาติทั้งในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียนและในฐานะประธานกลุ่ม G77 ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าสามารถประสานความร่วมมือระหว่างกรอบความร่วมมือพหุภาคีต่าง ๆ เพื่อช่วยส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ได้
            ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องว่า นอกเหนือจากแรงจูงใจในการเมืองต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เกิดขึ้นในการประชุมสหประชาชาติครั้งนี้แล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือการให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทร่วมในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวว่าจะชักชวนประเทศ G77 ให้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวต่อไป
         ๕. การหารือทวิภาคีกับนายชาร์ลส์ เฮนรี เฟอร์นันเดซ (Charles Henry Fernandez) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศแอนติกาและบาร์บูดา
             นายเฟอร์นันเดซเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยและแอนติกาฯ ยังคงมีศักยภาพในการขยายความร่วมมือระหว่างกันได้อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของการค้าและการลงทุน ตลอดจนการท่องเที่ยว โดยแอนติกาฯ ประสงค์ที่จะเรียนรู้จากไทยถึงแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของไทยในการส่งเสริมการท่องเที่ยว นอกจากนี้ โดยที่แอนติกาฯ เป็นประเทศหมู่เกาะและมีพื้นที่น้ำลึกมาก จึงเหมาะแก่การทำธุรกิจด้านการประมง ซึ่งนายเฟอร์นันเดซได้กล่าวชักชวนให้นักลงทุนไทยเดินทางไปทำธุรกิจประมง รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ ในแอนติกาฯ เพื่อเป็นฐานในการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ต่อไป ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้รับที่จะนำไปหารือต่อไป
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ