ถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรีในการประชุม UNGA ครั้งที่ ๗๐

ถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรีในการประชุม UNGA ครั้งที่ ๗๐

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ก.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,812 view
ถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรี
ในการอภิปรายทั่วไปของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๐
หัวข้อ “๗๐ ปี สหประชาชาติ – เส้นทางสู่สันติภาพ ความมั่นคง และสิทธิมนุษยชน”
(The United Nations at 70 – the road ahead to peace, security and human rights)
ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
วันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๘ 
 

ท่านประธานที่เคารพ

๑. รัฐบาลไทยขอร่วมกับผู้แทนของรัฐสมาชิกอื่น ๆ แสดงความยินดีในโอกาสที่สหประชาชาติได้ก่อตั้ง และดำเนินงานมาครบรอบ ๗๐ ปี ในปีนี้

๒. ผมขอขอบคุณมิตรประเทศทั้งหลายอย่างจริงใจที่ร่วมแสดงความเสียใจและส่งกำลังใจให้กับประชาชนไทย ภายหลังเหตุการณ์ระเบิดในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๘ ประเทศไทยขอประณามผู้ก่อเหตุรุนแรงในครั้งนี้ ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์ เราไม่สามารถยอมรับการก่อเหตุรุนแรงเยี่ยงนี้ได้ และขอยืนยันว่า ประเทศไทยจะร่วมมือกับประชาคมโลกอย่างถึงที่สุดเพื่อยุติความรุนแรง และปกป้องผู้บริสุทธิ์ เพื่อธำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพ และความสงบสุขของประชาชนของโลก

๓. ๗๐ ปีที่ผ่านมา สหประชาชาติได้แสดงบทบาทที่สาคัญในการบรรเทาทุกข์และแก้ไขปัญหาของประชาคมโลก จรรโลงสันติภาพและความมั่นคง ปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่มวลมนุษยชาติ

๔. ในด้านการรักษาสันติภาพ สหประชาชาติประสบความสำเร็จในการช่วยลดความขัดแย้งและป้องกัน มิให้ขยายตัวจนลุกลามกลายเป็นสงครามขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม สหประชาชาติยังมีภาระหนักหน่วง ในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการพัฒนา และช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ควบคู่กันไป ประเทศไทยมีความพร้อมและตั้งใจที่จะสนับสนุนภารกิจ การรักษาสันติภาพของสหประชาชาติต่อไป โดยเฉพาะในด้านการพัฒนา

๕. ในด้านสิทธิมนุษยชน ไทยได้ให้ความสำคัญต่อการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด และได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่สมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระหว่างปี ค.ศ. ๒๐๑๐-๒๐๑๓ โดยดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีดังกล่าวในช่วงปี ค.ศ. ๒๐๑๐-๒๐๑๑ ซึ่งเป็นโอกาสที่ไทยได้ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโยงประเทศและกลุ่มประเทศที่มีความเห็นที่แตกต่าง โดยเน้นการไม่เลือกปฏิบัติ การเป็นหุ้นส่วนที่สร้างสรรค์ รวมถึงการส่งเสริมขีดความสามารถในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

๖. ในด้านการพัฒนา สหประชาชาติประสบความสำเร็จในการผลักดันความเจริญรุ่งเรืองสู่รัฐสมาชิก ไทยให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลาง การขจัดความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคม หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หลักนิติธรรมและการส่งเสริมธรรมาภิบาล การลดความเสี่ยง จากภัยพิบัติ การเกษตรที่ยั่งยืน และการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ เป็นต้น ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นปัญหาท้าทายหลักในการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนั้น จึงเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของโลกที่จะต้องทำให้ผลลัพธ์ของการประชุม COP 21 เกิดผลที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด

๗. โลกยุคปัจจุบันเป็นโลกไร้พรมแดน ซึ่งมีความเชื่อมโยง ซับซ้อนในหลายมิติ การแก้ไขปัญหาจะต้องทำอย่างรอบด้าน ดังนั้น จึงไม่สามารถที่จะมีทางออกของปัญหาเพียงหนึ่งเดียวที่ใช้ได้ในทุกที่ ทุกเวลา และทุกสถานการณ์ การจัดการกับปัญหาท้าทายของโลกมีลักษณะเฉพาะตัวขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและบริบทของประเทศที่แตกต่างกัน ในวันนี้ เราเห็นความเร่งด่วนที่ประชาคมระหว่างประเทศต้องร่วมกันแก้ปัญหา ผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ หรือผู้หนีภัยสงคราม ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมที่ยืดเยื้อต่อเนื่อง และกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งไทยและหลาย ๆ ประเทศต้องเผชิญกับความท้าทายนี้ด้วย และรับมือกับปัญหาโดยเคารพหลักมนุษยธรรม

 

ท่านประธานที่เคารพ

๘. ตลอด ๗๐ ปีที่ผ่านมา สหประชาชาติได้ช่วยแก้ไขปัญหาสันติภาพและความมั่นคง รวมถึงได้แก้ไขปัญหา การละเมิดสิทธิมนุษยชนจนสาเร็จระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี ปัญหาเหล่านี้ยังไม่หมดสิ้นไป จึงจำเป็นที่จะต้องเน้นการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวมอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในมิติของการพัฒนา เนื่องจากเส้นทางสู่ สันติภาพและความมั่นคง จะต้องอาศัยการพัฒนาและการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนควบคู่กันไป

๙. ประเทศไทยยกระดับตนเองขึ้นมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางภายในระยะเวลา ๓ ทศวรรษ โดยยึดแนวทางการพัฒนาตามหลักของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ “นักพัฒนา” ที่ได้ทรงริเริ่มดำเนินการมากว่า ๕๐ ปีแล้ว จนกระทั่งไทยประสบความสำเร็จพัฒนาตนเองเป็นประเทศ “หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา”

๑๐. ไทยยืดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นแนวทางในการพัฒนา ประเทศอย่างยั่งยืน ประกอบด้วยความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน บนเงื่อนไข ของความรู้คู่คุณธรรม ความพอดีและพึ่งพาตัวเองได้ อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งสอดคล้องกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ จนเป็นที่ยอมรับจากสหประชาชาติมาตั้งแต่ ปี ค.ศ. ๒๐๐๖ ที่พระองค์ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ รางวัลความสาเร็จสูงสุดด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

๑๑. จากหลักปรัชญาดังกล่าว รัฐบาลของผมกำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศให้เกิด “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” โดยมุ่งหวังลดความเหลื่อมล้ำ ยึดหลักนิติรัฐและธรรมาภิบาล ให้ความสำคัญกับการสร้างความสามัคคีของคนในชาติ สร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และพัฒนาประเทศไปในแนวทางที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อประชากรรุ่นต่อไป

๑๒. ความมั่นคงและเสถียรภาพของประเทศชาติเป็นความสาคัญลำดับแรก ประเทศจะมีความมั่นคงเมื่อมีความสงบเรียบร้อยในประเทศ ประชาชนดำรงชีวิตโดยปราศจากความกลัว ความหิวโหย และประชาชนในสังคมได้รับโอกาสในการพัฒนาให้เป็นคนดี มีคุณภาพ และอุดมด้วยปัญญา ดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข มีความรับผิดชอบโดยยึดถือประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน สามารถเผชิญความท้าทาย และ ความเปลี่ยนแปลงได้

๑๓. ความมั่นคงเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่ความมั่งคั่งของประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยเสริมสร้างให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และมีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพชุมชนในทุกระดับ รวมทั้งได้รับโอกาสในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันที่เน้นการใช้ประโยชน์จากการต่อยอด ภูมิปัญญาท้องถิ่น การวิจัยและพัฒนา ตลอดจนส่งเสริมนวัตกรรมและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ที่ทันสมัย

๑๔. ในการทำให้เกิดความยั่งยืน เราจะต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมในสังคมสีเขียว วันนี้ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุความยั่งยืนของโลก และทุกคน ทุกประเทศ ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยประเทศไทยตั้งใจจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายหลังปี ค.ศ. ๒๐๓๐ ลงร้อยละ ๒๐-๒๕ ภายใต้ INDCs ของไทย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการดาเนินการในระดับโลก

๑๕. ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีการเสริมสร้างกรอบกติกาและส่งเสริมธรรมาภิบาลที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ การขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้จะต้องสามารถนำเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ไปปฏิบัติสำหรับทุกคนในทุกระดับ เพื่อให้มีความเป็นเจ้าของร่วมกัน และนำไปสู่การพัฒนาที่เติบโต และเข้มแข็งจากภายใน

๑๖. ดังนั้น สิ่งที่จะทำให้ไทยเข้มแข็งขึ้น และสามารถบรรลุเป้าหมายมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้ก็คือ การปฏิรูป อย่างครบวงจรเพื่อนำไปสู่การมีประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง อาทิ การปฎิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน การสร้างความเข้าใจและปรองดองสมานฉันท์ และการจัดระเบียบทางสังคม

 

ท่านประธานที่เคารพ

๑๗. เมื่อกาลเวลาผ่านไป วันนี้จะกลายเป็นหน้าประวัติศาสตร์ของอนาคต สิ่งที่เกิดขึ้นในวันข้างหน้าจะเป็น ตัวบ่งบอกที่เที่ยงธรรมที่สุดว่า “วันนี้” เราได้ทำสิ่งใดลงไป และเพื่อสิ่งใด สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยและกับโลกของเราในวันข้างหน้า ในอีก ๑๐ ปี ๒๐ ปี จะเป็นข้อพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า “วันนี้” เรากำลังทำเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของประเทศไทย และเพื่อให้ไทยเป็นสมาชิกที่เข้มแข็ง และมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของสหประชาชาติ ในการสร้างสรรค์โลกที่ดีกว่าในอนาคตด้วยเช่นกัน

๑๘. เรามักจะคาดหวังให้ผู้ที่แข็งแรงที่สุดให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่อ่อนแอที่สุด แต่ในโลกปัจจุบันที่ความเหลื่อมล้ำมีช่องว่างกว้างออกไปทุกทีนั้น เราไม่อาจจะมองข้ามบทบาทของกลุ่มคนที่อยู่กึ่งกลางระหว่างคนสองกลุ่ม ซึ่งอาจเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนมากที่สุดและมีกำลังมากพอที่จะช่วยเหลือตนเองได้ในระดับหนึ่งแล้วนอกจากนี้ ยังมีศักยภาพมากพอที่จะเป็น “สะพาน” เชื่อมโยงการพัฒนาจากกลุ่มที่แข็งแรงที่สุด ไปสู่กลุ่มที่อ่อนแอที่สุดได้เป็นอย่างดี บนพื้นฐานของความเข้าอกเข้าใจ

๑๙. ประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มคนที่อยู่กึ่งกลางนั้น มีความเชื่ออย่างที่สุดว่า การพัฒนาไม่อาจจะยั่งยืนได้ หากเราก้าวไปแต่เพียงผู้เดียวและทิ้งผู้อื่นไว้เบื้องหลัง เราจึงได้นำแนวความคิด “ไทยบวกหนึ่ง” (Thailand Plus One) มาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ-อุตสาหกรรม เพื่อเพื่อนบ้านของเราจะได้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน ผ่านการผลักดันการเชื่อมโยงด้านการคมนาคมในอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเขตเศรษฐกิจพิเศษตามจังหวัดในแนวชายแดนเพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน

๒๐. ปัจจุบัน ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศกำลังพัฒนาอยู่ในภาคเกษตรกรรม กำลังประสบปัญหาต่าง ๆ อาทิ การกีดกันทางการค้า การแข่งขันในตลาดโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาหนี้สิน และความยากจน การละทิ้งภาคการเกษตรของคนรุ่นใหม่ ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคง ด้านอาหารของโลก ดังนั้น เราจึงควรร่วมกันสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการพัฒนา โดยเฉพาะ ผ่านความร่วมมือเหนือ-ใต้ และใต้-ใต้ และให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรม เพื่อเป็นฐานการผลิต ที่เข้มแข็งและยั่งยืน

 

ท่านประธานที่เคารพ

๒๑. นอกเหนือจากการดูแลกลุ่มเกษตรกรแล้ว ต้องให้ความช่วยเหลือกับกลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ โดยเฉพาะกลุ่ม ที่มีความเสี่ยงในการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น กลุ่มแรงงานประมงซึ่งตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์รวมถึงกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ เช่น เด็ก สตรี และผู้พิการ

๒๒. รัฐบาลให้ความสำคัญเร่งด่วนกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นการให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาอย่าง รอบด้าน ทั้งการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ตลอดจนการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหาย และ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการอย่างมีบูรณาการ ซึ่งจะเป็นการเสริมความพยายามของภูมิภาค และของโลก

๒๓. นอกจากนี้ ปัญหาข้ามชาติอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น ปัญหาโรคระบาด และยาเสพติด จำต้องได้รับความร่วมมือจากนานาประเทศ ไทยพร้อมที่จะแลกเปลี่ยน แบ่งปันประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดีของไทย อาทิ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การเฝ้าระวังโรคติดต่อต่าง ๆ และการพัฒนาทางเลือกอย่างครบวงจร และยั่งยืน ซึ่งไทยเป็นผู้ริเริ่มจัด International Conference on Alternative Development (ICAD) 1 และกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัด ICAD 2 ในปลายปีนี้

๒๔. ในฐานะประเทศกาลังพัฒนาขนาดกลางที่ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างวัฒนธรรมสันติภาพ และมีบทบาทในการร่วมมือแก้ไขปัญหาท้าทายของโลก ไทยจึงได้เสนอตัวเข้ารับการเลือกตั้งในฐานะสมาชิกไม่ถาวร คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติวาระปี ค.ศ. ๒๐๑๗-๒๐๑๘ เพราะเชื่อมั่นว่า จะสามารถเป็นสะพานเชื่อมระหว่างประเทศสมาชิก ประเทศที่มีที่นั่งในคณะมนตรีความมั่นคงฯ กับประเทศนอกคณะมนตรีฯ รวมถึงสะพานเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมและความแตกต่างทางความคิด โดยหวังว่า การมีบทบาทเป็นสะพานเชื่อมโยงนี้ จะมีส่วนช่วยสร้างความเข้าใจอันดี และความร่วมมือระหว่างนานาชาติ เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของสหประชาชาติร่วมกัน

 

ท่านประธานที่เคารพ

๒๕. ในช่วงที่ประชาคมระหว่างประเทศก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการพัฒนา ความยั่งยืนควรแทรกอยู่ในทั้งสามเสาหลักของสหประชาชาติ เราได้ย้ำมานานแล้วว่า ทั้งสามเสาหลักส่งเสริมและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน แต่ในความเป็นจริง เราทำงานแบ่งแยกและไม่สอดประสานกันในด้านสันติภาพและความมั่นคง ด้านการพัฒนา และด้านสิทธิมนุษยชน ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยนแนวทางในการทำงาน โดยการรวมทั้งสามเส้นทางเข้าด้วยกัน เพื่อที่ว่าในอีก ๗๐ ปีข้างหน้า มวลมนุษยชาติจะบรรลุเป้าหมายตามที่คาดหวัง ตามสัญญาประชาคม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านสันติภาพและความมั่นคง สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

๒๖. ไทยมีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งในพลังของประเทศสมาชิกที่จะขับเคลื่อนองค์กรแห่งนี้ ให้เราเข้มแข็งไปพร้อมๆ กัน และผมขอยืนยันว่า ประเทศไทยพร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนกับเพื่อนประเทศสมาชิกเพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายทั้งเก่าและใหม่ และนำมาซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ เพื่อประโยชน์สุขร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศ

***********

(ภาพจาก http://www.thaigov.go.th)

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ