รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมคู่ขนาน How to Advance Women, Peace and Security Agenda in the Post-2015 Development Agenda?

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมคู่ขนาน How to Advance Women, Peace and Security Agenda in the Post-2015 Development Agenda?

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ต.ค. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 2,693 view

         เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๘ ในระหว่างการเยือนนครนิวยอร์กเพื่อเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๐ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุมคู่ขนาน "How to Advance Women, Peace and Security Agenda in the Post-2015 Development Agenda?" สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
         ไทยได้รับเชิญให้เป็นเจ้าภาพร่วมกับอิตาลี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เคนยา นามิเบีย และสเปน จัดการประชุมดังกล่าวเพื่อส่งเสริมประเด็นสตรี สันติภาพ และความมั่นคง ในบริบทของวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. ๒๐๑๕ โดยเน้นการส่งเสริมอำนาจสตรีทางเศรษฐกิจในสถานการณ์ความขัดแย้งและภายหลังความขัดแย้ง เพื่อบรรลุข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ที่ ๑๓๒๕ (ค.ศ. ๒๐๐๐) ที่มุ่งเน้นการเพิ่มบทบาทของสตรีในฐานะผู้รักษาสันติภาพ (peacekeeper) โดยมีรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้ง ๖ ประเทศเข้าร่วม
         รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถ้อยแถลง โดยเน้นย้ำความสำคัญของการเพิ่มบทบาทของสตรีในการส่งเสริมสันติภาพ โดยเห็นว่าในปัจจุบันสตรียังไม่มีบทบาทในการรักษาสันติภาพที่เพียงพอ และทุกฝ่ายควรเปลี่ยนมุมมองให้เห็นว่าสตรีไม่ได้เป็นเพียงแค่เหยื่อของความขัดแย้ง แต่สามารถเป็นตัวสร้างความเปลี่ยนแปลง (change agent) ในการแก้ไขข้อขัดแย้งได้ ทั้งนี้ สันติภาพ การพัฒนา และสิทธิมนุษยชนนั้นเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด ดังนั้น การเชื่อมโยงการส่งเสริมบทบาทสตรีกับวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนหลังปี ค.ศ. ๒๐๑๕ จึงมีความสำคัญ ซึ่งการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวจะต้องเป็นการดำเนินการโดยอาศัยความร่วมมือจากนานาประเทศ โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น ปัจจุบันได้ให้การสนับสนุนโครงการวิจัยของสถาบัน International Peace Institute (IPI) เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเรื่องบทบาทของสตรีในความขัดแย้ง และได้เคยร่วมกับสถาบัน IPI จัดการอภิปรายในเรื่องดังกล่าวเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๘ ที่นครนิวยอร์ก
         อนึ่ง การเพิ่มบทบาทสตรีในฐานะผู้รักษาสันติภาพ (peacekeeper) เป็นหนึ่งในเป้าหมายของวาระ Women, Peace and Security ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ การเพิ่มบทบาทสตรีในฐานะผู้รักษาสันติภาพจำเป็นต้องดำเนินการโดยเพิ่มจำนวนสตรีในภารกิจและผนวกมุมมองด้านเพศสภาวะในทุกมิติและทุกภารกิจ โดยในกรอบของการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในปัจจุบันนั้น มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจที่เป็นสตรีเพียงร้อยละ ๔ รวมถึงในการเจรจาสันติภาพ ก็มีสตรีที่เป็นผู้ลงนามในการเจรจาสันติภาพน้อยกว่าร้อยละ ๑๐ ดังนั้น การส่งเสริมให้สตรีมีบทบาทในภารกิจรักษาสันติภาพ จึงเป็นอีกหนึ่งมิติที่สำคัญในการพัฒนาภารกิจของสหประชาติ ตลอดจนเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่ง (Sustainable Development Goals : SDGs) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป้าหมายในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและส่งเสริมศักยภาพของสตรี
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ