การประชุม Thailand-Pacific Island Countries Forum (TPIF) ครั้งที่ ๒

การประชุม Thailand-Pacific Island Countries Forum (TPIF) ครั้งที่ ๒

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 พ.ค. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565

| 2,083 view

เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๘ พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานเปิดการประชุม Thailand-Pacific Island Countries Forum (TPIF) ครั้งที่ ๒ ณ โรงแรมสุโกศล โดยมีผู้นำและผู้แทนจากประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ๙ ประเทศ ได้แก่ ตองกา นาอูรู หมู่เกาะคุก ฟิจิ คิรีบาส วานูอาตู ซามัว หมู่เกาะมาแชลส์ และปาปัวนิวกินี สำนักงานเลขาธิการ Pacific Island Countries Forum (PIF) ตลอดจนผู้สังเกตการณ์จากสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ UNESCAP FAO WHO และ UNDP ส่วนฝ่ายไทยประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย การประชุม TPIF ครั้งที่ ๒ นี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Enhancing Thailand – Pacific Island Partnership for Sustainability” โดยมีนายนรชิต สิงหเสนี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานการประชุม

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในสุนทรพจน์เปิดการประชุม ได้ย้ำถึงความสัมพันธ์ฉันท์มิตรและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศไทยและประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะมีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรมและความห่างไกลของที่ตั้ง การประชุม Thailand-Pacific Island Countries Forum (TPIF) เป็นกลไกที่จะกระชับความสัมพันธ์ ทั้งในด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการพัฒนา นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความสนใจในการขยายความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ที่จะสามารถเพิ่มพูนผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย อาทิ การเกษตร พลังงานไบโอดีเซล การประมง การจัดการภัยพิบัติ การสาธารณสุข เป็นต้น

การประชุมครั้งนี้ แบ่งเป็น ๓ หัวข้อ ได้แก่

๑) Three-Year TPIF Development Partnership Programme
ฝ่ายไทยได้ประกาศแผนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาหุ้นส่วนระหว่างไทยกับประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกทั้ง ๑๔ ประเทศระยะเวลา ๓ ปี ๒๕๕๘ – ๒๕๖๐ (Three Year Thailand-Pacific Island Countries Development Partnership Program ๒๐๑๕ – ๒๐๑๗) ตลอดจนมีการกำหนดกิจกรรมสำหรับช่วงปีแรก (๒๕๕๘) โดยนาย Baron Divavesi Waqa ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐนาอูรู และนาย Henry Puna นายกรัฐมนตรีของหมู่เกาะคุก ได้ให้มุมมองของประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก รวมทั้งมีการหารือถึงการให้ทุนการศึกษากับเยาวชนของประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกให้เดินทางมาศึกษาและอบรมในประเทศไทย

๒) Sustainable and Social Development
มกุฏราชกุมาร Tupouto’a ‘Ulukalala แห่งราชอาณาจักรตองกา นาย Josaia Voreqe Bainimarama นายกรัฐมนตรีฟิจิ และนาย Tiarite Kwong รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม ที่ดิน และการพัฒนาการเกษตรของสาธารณรัฐคิรีบาติ ในฐานะผู้นำการสนทนา ได้อภิปรายถึงการขยายความร่วมมือบนแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งครอบคลุมประเด็นการจัดการภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการสาธารณสุข ทั้งนี้ ในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๘ กระทรวงการต่างประเทศ จะนำคณะผู้แทนทั้งหมดไปศึกษาดูงานโครงการพระราชดำริ เขาหินซ้อน ฉะเชิงเทรา และดูงานด้านการพัฒนาชุมชนและเยี่ยมชมงาน OTOP ที่เมืองทองธานีด้วย

๓) Economic Cooperation
นาย Maki Simelum รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสาธารณรัฐวานูอาตู และนาย Veali Vagi เอกอัครราชทูตปาปัวนิวกินีประจำประเทศไทย เป็นผู้นำการสนทนา โดยการประชุมช่วงดังกล่าว มีการหารือในรายละเอียดถึงเรื่องแผนความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนาการเกษตร การประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การท่องเที่ยว และเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยทุกฝ่ายเห็นพ้องถึงศักยภาพของการเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนในสาขาความร่วมมือข้างต้น มีการเสนอโครงการพัฒนาและเรียนรู้ร่วมกัน อาทิ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การทำประมงอย่างยั่งยืน เป็นต้น

ในการประชุมครั้งนี้ ผู้นำประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกทุกประเทศได้กล่าวชื่นชมรัฐบาลไทย และขอบคุณรัฐบาลไทยที่สนใจจัดการประชุมดังกล่าว เพื่อกระชับความสัมพันธ์หุ้นส่วนด้านการพัฒนาระหว่างประเทศไทยและประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ตลอดจนทุนการศึกษาอบรมที่ฝ่ายไทยให้กับประเทศเหล่านี้ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งขอบคุณสำหรับการต้อนรับอันอบอุ่น

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ