การประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย

การประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 พ.ค. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 4,363 view

 

เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๘ รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศได้จัดการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ณ โรงแรม อนันตรา สยาม กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเป็นเวทีสำหรับประชาคมระหว่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่เป็นสมาชิกของกระบวนการบาหลีที่ได้รับผลประทบโดยตรงจำนวน ๑๗ ประเทศ[1]ร่วมกันหาแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนสำหรับผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่ตกค้างกลางมหาสมุทรอินเดีย ณ ขณะนี้ประมาณ ๗,๐๐๐ คน พร้อมทั้งการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของหลักการแบ่งเบาภาระระหว่างประเทศ (International Burden Sharing)

การประชุมครั้งนี้มีผู้แทนระดับสูงจากประเทศที่ได้รับเชิญและประเทศผู้สังเกตการณ์ได้แก่ ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งสิ้น ๗๔ คน รวมทั้งมีผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ      ๓ องค์กร คือ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ผู้ช่วยข้าหลวงใหญ่     ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และผู้แทนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทยพร้อมด้วยเอกอัครราชทูตและผู้แทนระดับอุปทูตในประเทศไทยกว่า ๔๐ ประเทศได้เข้าร่วมสังเกตการณ์

พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวเปิดการประชุมโดยเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนสำหรับทุกประเทศในภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง (ทั้งประเทศต้นทาง กลางทาง และปลายทาง) รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และความร่วมมือของประชาคมระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน และนอกจากการให้ความสำคัญของการช่วยเหลือชีวิตของผู้ที่อยู่กลางทะเลแล้ว ยังต้องการความร่วมมือในการหยุดยั้งปัญหาที่ต้นเหตุโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการค้ามนุษย์และอาชญากรรมข้ามชาติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต้นทาง และเน้นย้ำให้การประชุมครั้งนี้เป็นการหารืออย่างสร้างสรรค์ระหว่างมิตรประเทศ

การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติเป็นประเด็นที่ประเทศไทยให้ความสำคัญตลอดมา และยังคงให้ความสนใจในประเด็นดังกล่าวต่อไปภายใต้ความร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศ  โดยปัจจุบันประเทศไทยดูแลผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นจำนวนประมาณ ๑๓๐,๐๐๐ คน ซึ่งในจำนวนนั้นมีผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติทางทะเลจากบังกลาเทศและเมียนมาจำนวน ๖๐๐ คน โดยรวมถึง ๓๐๐ คนที่ได้รับการช่วยเหลือแล้วจากปฏิบัติการล่าสุด โดยรัฐบาลไทยได้ดำเนินการสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศและกฎหมายภายในประเทศ ดังนี้

๑) ปฏิบัติภารกิจพิเศษเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วนสำหรับผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติที่ตกค้างอยู่กลางทะเล

๒) ส่งเรือของกองทัพเรือเพื่อเป็นฐานปฏิบัติการลอยน้ำ (Floating Platform) สำหรับการให้ความช่วยเหลือและการดูแลรักษาพยาบาลที่จำเป็นต่อผู้โยกย้ายถิ่นฐานระหว่างรอการเดินทางผ่านต่อไป

๓) จัดเครื่องบินของกองทัพเรือและกองทัพอากาศเพื่อบินลาดตระเวนเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการทางมนุษยธรรม

นอกจากนั้น รัฐบาลไทยจะจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมกับ IOM และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง โดยศูนย์ปฏิบัติการดังกล่าวจะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลักในการเอื้ออำนวยความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ในการประชุมช่วงเช้า นายนรชิต สิงหเสนี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานในการประชุม โดยผู้แทนจาก IOM และ UNHCR ได้นำเสนอภาพรวมของสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก หลังจากนั้นผู้แทนจากประเทศผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ ไทย บังกลาเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเมียนมาได้กล่าวถึงสถานการณ์ในประเทศและความพยายามในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ส่วนในภาคบ่าย เป็นการหารือเกี่ยวกับมาตรการที่ประเทศต่างๆ จะพิจารณาดำเนินการร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ                             



[1] กระบวนการบาหลีมีสมาชิกทั้งสิ้น ๔๕ ประเทศ ส่วนประเทศที่ได้รับเชิญ ได้แก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ที่ได้รับเชิญทั้งหมด ๑๗ ประเทศ เข้าร่วม ได้แก่ อัฟกานิสถาน ออสเตรเลีย บังกลาเทศ กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน ลาว มาเลเซีย เมียนมานิวซีแลนด์ ปากีสถาน ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา เวียดนาม และไทย  

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ