รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุม 2015 OSCE-Asian Conference

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุม 2015 OSCE-Asian Conference

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 มิ.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,352 view

         เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๘ พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุม  2015 OSCE-Asian Conference ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ร่วมกับนายยุน บยอง-เซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเกาหลี และนายดีดีเยร์ บวร์คฮัลเทอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสมาพันธรัฐสวิส และผู้แทนจากยุโรป เอเชีย และองค์การระหว่างประเทศเข้าร่วม
         รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบปะและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเกาหลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสมาพันธรัฐสวิส และแลมแบร์โต้ ซานนิแอร์ เลขาธิการ OSCE ในระหว่างก่อนการประชุมฯ และได้กล่าวถ้อยแถลง (Keynote speech) ในพิธีเปิดการประชุมฯ โดยมุ่งส่งเสริมให้ OSCE และเอเชียร่วมมือกันเพื่อมีบทบาทในการรับมือกับประเด็นท้าทายด้านความมั่นคงระดับภูมิภาคและระดับโลก อาทิ การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนและ OSCE ในการพัฒนาบุคลากรมนุษย์อย่างเท่าเทียมเพื่อป้องกันประชาชนมิให้ตกเป็นเหยื่อลัทธิสุดโต่ง การลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการรับมือภัยพิบัติระหว่างศูนย์รับมือภัยพิบัติหรือศูนย์ Asian Disaster Preparedness Center ที่กรุงเทพฯ การต่อต้านการค้ามนุษย์โดยการใช้แนวทาง 5 P ของไทย ซึ่งประกอบด้วย (๑) การดำเนินคดีและการบังคับใช้กฎหมาย (Prosecution and Law Enforcement) (๒) การป้องกันและการฟื้นฟู (Protection and Recovery) (๓) การป้องปราม (Prevention) (๔) การดำเนินนโยบาย (Policy and Mechanism) และ (๕) การเป็นหุ้นส่วน (Partnership) โดยไทย ในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียนเดียวใน OSCE สามารถเป็นตัวเชื่อมระหว่าง OSCE กับอาเซียน ตลอดจนเวที ASEAN Regional Forum เพื่อยกระดับบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในเวทีพหุภาคี
         ในหัวข้อหลักของการประชุมในปีนี้ “The Changing Global Security Environment and Visions of Multilateral Security Co-operation in Asia” ประกอบด้วยการประชุม ๓ วาระ ได้แก่ (๑) Evolving threats and their implications for security in Europe and Asia เพื่อหารือแนวทางการต่อต้านลัทธิสุดโต่งและการส่งเสริมแนวทางสายกลาง (๒) Areas of Cooperation .ในเรื่องความร่วมมือด้านการลดความเสี่ยงด้านภัยพิบัติและความมั่นคงทางไซเบอร์ และ (๓) Visions for Security Co-operation in Asia: Experience Sharing and New Co-operation Areas เพื่อหารือเรื่องการส่งความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างเอเขียกับ OSCE ทั้งนี้ นายสุริยา จินดาวงษ์ รองอธิบดีกรมอาเซียน ได้รับเลือกเป็นผู้เข้าร่วมอภิปรายในฐานะ panelist ในวาระนี้ด้วย นอกจากนี้ สาธารณรัฐเกาหลียังได้จัดการอภิปรายในวาระพิเศษเรื่อง “North-East Asia Peace and Confidence and Security Initiative (NAPCI) and the OSCE’s experience in Confidence and Security Building Measures” เพื่อหาแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสาธารณรัฐเกาหลีกับ OSCE ในการสร้างสันติภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย
         OSCE หรือองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Cooperation in Europe – OSCE) เป็นเวทีปรึกษาหารือผ่านเวทีทางการทูตเพื่อระงับข้อพิพาทและข้อขัดแย้งในยุโรป โดยมีประเทศสมาชิก ๕๗ ประเทศ และมีประเทศหุ้นส่วนเพื่อความร่วมมือจากเมดิเตอร์เรเนียน ๖ ประเทศ และจากเอเชีย ๕ ประเทศเข้าร่วม (ไทย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย และอัฟกานิสถาน) โดยเวที OSCE-Asian Conference เป็นเวทีสำคัญประจำปีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นด้านความมั่นคงระหว่างกัน โดยประเทศหุ้นส่วนฯ จะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ และไทยจะเป็นประเทศผู้ประสานงานระหว่างประเทศหุ้นส่วนฝ่ายเอเชียกับ OSCE ในปี ๒๕๕๙ และไทยได้แสดงความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 2016-Asian Partner Conference ซึ่งจะช่วยยกระดับบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในเวทีพหุภาคีและช่วยให้ไทยเป็นตัวเชื่อมระหว่าง OSCE กับอาเซียนอีกด้วย ภายหลังจากที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 2012 OSCE-Thailand Conference ที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี ๒๕๕๕

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ