ผลการเยือนอินเดียของปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

ผลการเยือนอินเดียของปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ก.ย. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 2,303 view

เมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๗ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางเยือนอินเดีย เพื่อเป็นประธานการประชุมหารือระดับปลัดกระทรวงการต่างประเทศไทย – อินเดีย (Foreign Office Consultation – FOC) ร่วมกับนายอนิล วาธวา ปลัดกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย  (ฝ่ายภูมิภาคตะวันออก) ณ  กระทรวงการต่างประเทศอินเดีย (Jawaharlal Nehru Bhawan - JNB) และในโอกาสดังกล่าว ได้เข้าเยี่ยมคารวะนางสุษมา สวราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ณ  กระทรวงการต่างประเทศอินเดีย (JNB) และพลเอกวิชัย กุมาร สิงห์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ณ กระทรวงการต่างประเทศอินเดีย (South Block)

ฝ่ายอินเดียได้แสดงความยินดีต่อการเข้ารับหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย นอกจากนั้น ในการหารือทุกระดับ อินเดียได้แสดงความกระตือรือร้นในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกันและแสดงถึงความสำคัญที่ให้กับไทยในฐานะมิตรประเทศและประเทศหุ้นส่วนในอาเซียน โดยเฉพาะในการมีปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศไทยในฐานะประเทศหุ้นส่วนเศรษฐกิจสำคัญที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างอินเดียกับประเทศในอาเซียนและภูมิภาคเอเชียตะวันออก

ในการนี้ อินเดียได้เชิญให้นายกรัฐมนตรีไทยเยือนอินเดีย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดียได้แจ้งความประสงค์ที่จะเยือนไทยในโอกาสแรก โดยได้ตอบตกลงที่จะเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission - JC) ไทย – อินเดีย ครั้งที่ ๗ ที่ประเทศไทย ในช่วงปลายปี ๒๕๕๗ หรือต้นปี ๒๕๕๘ ซึ่งการประชุม JC เป็นกลไกหลักในการหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคีในทุกมิติ เพื่อติดตามประเด็นคั่งค้างและผลักดันประเด็นความร่วมมือใหม่
ในโอกาสนี้ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงพัฒนาการทางการเมืองของไทยตามแผน Road Map ของ คสช. ซึ่งอินเดียเห็นว่าพัฒนาการทางการเมืองเป็นเรื่องภายในของไทย และปลัดกระทรวงฯ ได้แจ้งเกี่ยวกับแผนปฏิรูปเศรษฐกิจและแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนต่างประเทศดำเนินการค้าการลงทุนในไทยมากขึ้น ในด้านนโยบายต่างประเทศ ปลัดกระทรวงฯ  ได้เน้นย้ำถึงบทบาทที่แข็งขันของไทยในการเสริมสร้างประชาคมอาเซียนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอาเซียน โดยเฉพาะบทบาทของไทยในการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านและการส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ผ่านการดำเนินโครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคม เส้นทางรถไฟ และการกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษ

นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นทวิภาคีต่าง ๆ โดยในด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเร่งรัดการเจรจาการจัดทำ FTA ไทย – อินเดีย ให้สามารถลงนามและมีผลบังคับใช้ในโอกาสแรก ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมโยงเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน โดยมีโครงการสำคัญคือโครงการถนนสามฝ่าย ไทย – เมียนมาร์ – อินเดีย (India - Myanmar - Thailand Trilateral Highway Project) และการพัฒนากฎระเบียบต่าง ๆ ในการขนส่งข้ามแดนและด้านศุลกากรให้มีความคล่องตัว เพื่อส่งเสริมให้ถนนสามฝ่ายเป็นระเบียงเศรษฐกิจไทย – เมียนมาร์ - อินเดีย และได้หารือถึงการพัฒนาความเชื่อมโยงทางทะเลและการเชื่อมโยงทางอากาศด้วย

ด้านการค้าการลงทุน อินเดียประสงค์ให้ภาคเอกชนไทยลงทุนในอินเดียมากขึ้น โดยเฉพาะ ในด้านอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจเดลี-มุมไบ และระเบียงเศรษฐกิจเจนไน-บังกาลอร์ โดยฝ่ายไทยได้ขอให้อินเดียพิจารณาอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนและปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนมากขึ้น อาทิ แก้ไขกฎระเบียบด้านการตรวจลงตราที่ลดเวลาการพำนักอยู่ในอินเดียของนักธุรกิจไทยจาก 1 ปี เป็น 6 เดือน และเร่งทำความตกลงที่สำคัญ เช่น ความตกลงยกเว้นภาษีซ้อน

ด้านความมั่นคง ไทยและอินเดียมีความร่วมมือด้านข่าวกรอง การต่อต้านการก่อการร้าย และอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งเป็นความท้าทายในมิติใหม่ที่เป็นผลมาจากความเชื่อมโยงที่มากขึ้น ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการเยือนอินเดียของผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทั้งสองฝ่ายได้หารือเรื่องการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความสำเร็จของอินเดียในการพัฒนาอุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์ ซึ่งกระทรวงกลาโหมมีความสนใจที่จะเยือนอินเดียเพื่อศึกษาอุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์ของอินเดียที่มีความก้าวหน้า นอกจากนั้น อินเดียสนใจที่จะตั้งคณะทำงานเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้ามนุษย์และด้านยาเสพติดกับไทย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ