ปลัดกระทรวงการต่างประเทศหารือผู้แทนสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น Keidanren

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศหารือผู้แทนสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น Keidanren

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ก.ย. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 22 พ.ย. 2565

| 2,068 view
​​เมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๗ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือในช่วงรับประทานอาหารกลางวันกับผู้แทนสมาพันธ์ธุรกิจชั้นนำของญี่ปุ่น ๒๔ บริษัท โดยมี นายซะโตะชิ มุคุตะ ผู้อำนวยการบริหารอาวุโสสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (Keidanren) และนายกลินท์ สารสิน กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย เข้าร่วมด้วย รายละเอียด ดังนี้
 
ปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถึงบทบาทสำคัญของญี่ปุ่นที่มีต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของอาเซียน และในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ความสำคัญของไทยในฐานะเป็นฐานการลงทุนที่สำคัญของญี่ปุ่น ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้ใช้โอกาสนี้สรุปพัฒนาการทางการเมืองของไทย และการดำเนินการตามแผน road map ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์ทางการเมืองกลับเข้าสู่ความสงบและประเทศสามารถเดินหน้าไปสู่การพัฒนา ไทยมุ่งเสริมสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงและยั่งยืน ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับความร่วมมือไทย – ญี่ปุ่นในการขับเคลื่อนผลประโยชน์ร่วมกัน
ปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถึงความตั้งใจของไทยที่จะเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ย้ำความสำคัญของการเชื่อมโยงทางคมนาคม การลงทุนเพื่อการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยส่งเสริมให้ญี่ปุ่นร่วมมือกับไทยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะการพัฒนาระบบรางรถไฟความเร็วสูงและระบบรางเขตเมือง นอกจากนี้ ย้ำให้ผู้แทนภาคเอกชนญี่ปุ่นเข้าใจถึงความพยายามของไทยที่จะสร้างบรรยากาศที่เกื้อกูลต่อการค้าและการลงทุน เช่น การส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนา การปฏิรูประบบภาษี การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมทั้งสร้างความโปร่งใสโดยการปรับปรุงระบบศุลกากร
ปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถึงวิสัยทัศน์และความมุ่งหมายของไทยที่จะขยายระเบียงการขนส่งเพื่อเชื่อมโยงไปยังอินเดียและจีน พัฒนาให้ระเบียงขนส่งที่มีอยู่เป็นระเบียงทางเศรษฐกิจ โดยการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจจำเพาะและพัฒนาเครือข่ายเมืองพาณิชย์และสร้างประตูเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ตามแนวทางไทย + ๑ ซึ่งจะใช้ไทยเป็นฐานในการลงทุนและขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เน้นการปรับปรุงการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าและประชาชน โดยปรับปรุงระเบียบศุลกากรและการอพยพ และมุ่งสู่การเจรจากรอบ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) กับประเทศอาเซียน ประเทศคู่เจรจา รวมทั้งกับญี่ปุ่น
​​
บรรยากาศการหารือกับภาคเอกชน Keidanren เป็นอย่างฉันท์มิตร ผู้ประกอบการภาคเอกชนแสดงความขอบคุณที่ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการทางการเมืองของไทย ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจของญี่ปุ่นกับไทย โดยผู้ประกอบการภาคเอกชนได้แสดงความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ทางการเมืองไทยจะกลับสู่ความมั่นคง และเศรษฐกิจจะฟื้นฟูโดยเร็ว ผู้แทนจากภาคเอกชนแสดงความประสงค์ที่จะให้ประเทศไทยเป็นฐานการค้า การลงทุนและการผลิตหลักในภูมิภาคแม้ว่าปัจจุบันมีหลายประเทศที่ดึงดูดให้ญี่ปุ่นเพิ่มการลงทุนมากขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ ไทยจะต้องรักษาบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน จัดทำแผน road map การค้าการลงทุนที่ชัดเจนเพื่อการส่งเสริมความเข้าใจแก่นักลงทุนจากญี่ปุ่นที่ประสงค์จะลงทุนในประเทศไทย ผู้แทนบริษัทรถยนต์นิสสัน แสดงความสนใจที่จะเพิ่มมูลค่าการซื้อขายรถยนต์นิสสันในประเทศไทย ผู้ประกอบการภาคเอกชนแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย นอกเหนือจากการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมติลาวา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนของญี่ปุ่นในระยะยาว
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ