การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคและการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ ๙-๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ณ เมืองชิงต่าว สาธารณรัฐประชาชนจีน

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคและการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ ๙-๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ณ เมืองชิงต่าว สาธารณรัฐประชาชนจีน

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 มิ.ย. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,478 view

ระหว่างวันที่ ๙-๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗ นางศันสนีย สหัสสะรังษี รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในฐานะเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคของไทย ได้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคครั้งที่ ๒/๒๕๕๗ และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ เมืองชิงต่าว สาธารณรัฐประชาชนจีน

การประชุมเอเปค ประจำปี ๒๕๕๗ ได้กำหนดหัวข้อ “การสร้างอนาคตด้วยความเป็นหุ้นส่วนเอเชีย-แปซิฟิก” (Shaping the Future through Asia-Pacific Partnership) โดยประเด็นหารือในปีนี้ ประกอบด้วย ๑) การก้าวสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ๒) การส่งเสริมการพัฒนาอย่างมีนวัตกรรม การปฏิรูปเศรษฐกิจ และการเจริญเติบโต และ ๓) การเสริมสร้างความเชื่อมโยงอย่างครอบคลุมและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

๑) “การก้าวสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค” โดยที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับการผลักดันการเจรจารอบโดฮาขององค์การการค้าโลก (WTO) ให้มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม หลังจากเมื่อปี ๒๕๕๖ เอเปคได้ช่วยผลักดันให้เกิด “Bali Package” ระหว่างการประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ ๙ ทั้งนี้ เอเปคได้หารือถึงการดำเนินการเพื่อนำไปสู่การจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific-FTAAP) ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายระยะยาวของเอเปค ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปก่อนการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๗ ณ กรุงปักกิ่ง

๒) “การส่งเสริมการพัฒนาอย่างมีนวัตกรรม การปฏิรูปเศรษฐกิจ และการเจริญเติบโต” นั้น ได้ครอบคลุมการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในหลาย ๆ ด้าน อาทิ การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การเพิ่มบทบาทของ SMEs ในเศรษฐกิจโลก การส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

๓) “การเสริมสร้างความเชื่อมโยงอย่างครอบคลุมและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน” ถือเป็นการสานต่อการดำเนินการของเอเปคเมื่อปี ๒๕๕๖ ซึ่งอินโดนีเซียได้เป็นเจ้าภาพ โดยในปีนี้ ที่ประชุมคาดว่าจะจัดทำ APEC Connectivity Blueprint ให้แล้วเสร็จ ซึ่งจะครอบคลุมการสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ใน ๓ ด้านได้แก่ ความเชื่อมโยงทางกายภาพ (เส้นทางคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน) ทางสถาบัน (ความสอดคล้องของกฎระเบียบ เช่น พิธีการศุลกากร) และระหว่างประชาชน ประเด็นต่าง ๆ ที่เอเปคให้ความสำคัญในปีนี้ มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์และนโยบายของไทย โดยไทยจะได้รับประโยชน์จากการนำองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีจากสมาชิกเอเปคอื่น ๆ มาปรับใช้ในการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ ไทยยังสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทาง/กฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอีกด้วย

ทั้งนี้ เอเปค ประกอบด้วยสมาชิก ๒๑ เขตเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐอเมริกา โดยเอเปคมีมูลค่า GDP รวมกว่า ๑๙ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ ๕.๗ พันล้านล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ ๕๓ของ GDP โลก และมีสัดส่วนการค้าคิดเป็นร้อยละ ๔๓ ของมูลค่าการค้าโลก โดยไทยมีมูลค่าการค้ากับสมาชิกเอเปค คิดเป็นจำนวนถึงร้อยละ ๗๐ ของมูลค่าการค้าของไทยทั้งหมด

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ