วันที่นำเข้าข้อมูล 4 มิ.ย. 2557
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ร่วมกันจัดการสัมมนาเรื่องการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน (Investor-State Dispute Settlement - ISDS) ระหว่างวันที่ ๓ - ๔ มิถุนายน ๒๕๕๗ เพื่อให้ส่วนราชการ นักธุรกิจไทย นักวิชาการและภาคประชาสังคม ได้แลกเปลี่ยนความรู้ แง่คิดในเชิงนโยบาย และแนวยุทธศาสตร์ของไทยในประเด็นเรื่องการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาในวันแรกประมาณ ๔๐ คน ที่กระทรวงการต่างประเทศและในวันที่สองประมาณ ๑๔๐ คน ที่โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท
การดำเนินแนวนโยบายการคุ้มครองการลงทุนและกระบวนการการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนเป็นเครื่องมือหนึ่งที่รัฐบาลจะสามารถสร้างความน่าเชื่อถือและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ตลอดจนคุ้มครองการลงทุนของนักลงทุนไทยในต่างประเทศได้ โดยกระบวนการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนหรือที่เรียกว่า “ISDS” ปรากฎอยู่ในความตกลงการคุ้มครองการลงทุนระหว่างประเทศและความตกลงเอฟทีเอในยุคปัจจุบัน กลไก ISDS จะช่วยให้การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐผู้รับการลงทุนกับนักลงทุนเป็นไปด้วยดี นอกจากนี้ การใช้กลไกการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution) ในข้อบท ISDS ก็มีความรวดเร็วในการระงับข้อพิพาทและสามารถช่วยลดความเสียหายในการลงทุนได้ รวมทั้งเป็นช่องทางที่ช่วยรักษาสัมพันธภาพระหว่างนักลงทุนกับรัฐ
การจัดกิจกรรมสัมมนาเรื่อง ISDS ในวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๗ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการเจรจาภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (Thai-EU FTA) ที่กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจและความตระหนักรู้ให้กับภาคเอกชนที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ โดยในการสัมมนาดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศได้เชิญนาย Folkert Graafsma และนาย Matthew Parish ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศจากสำนักงานที่ปรึกษากฎหมายฮอร์แมน เฟนวิค วิลแลนด์ (Holman Fenwick Willan) จากสำนักงานกรุงบรัสเซลส์และนครเจนีวา เพื่อบรรยายและสร้างความเข้าใจในการใช้กลไก ISDS ให้กับผู้เข้าร่วมการสัมมนา ภายใต้หัวข้อในการสัมมนา คือ แนวทางการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนสมัยใหม่: นัยต่อประเทศไทย (towards a new generation of ISDS policy: implication for Thailand) ซึ่งรวมถึงหลักการของการคุ้มครองการลงทุนสมัยใหม่และข้อบทการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน โดยผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้ให้ความสนใจแนวทางการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution - ADR) ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวปฏิบัติใหม่ที่เป็นเลิศในการระงับข้อพิพาทในปัจจุบันที่ประเทศไทยสามารถพิจารณาใช้ได้ในอนาคต ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามข่าวสารได้ที่ www.mfa.go.th/business และwww.thaieu.net
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **