คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก

คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ม.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 29,975 view

คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก

(Economic and Social Commission for Asia and the Pacific - ESCAP)

 

ภูมิหลัง

·       เอสแคปเป็นหนึ่งในห้าคณะกรรมาธิการภูมิภาค (regional commissions) ภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Council - ECOSOC) แห่งสหประชาชาติ

·       เอสแคปเป็นคณะกรรมาธิการภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุด ปัจจุบันมีสมาชิก 53 ประเทศ  ประกอบด้วยประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก 49 ประเทศ และประเทศนอกภูมิภาค 4 ประเทศ คือ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์   สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา และมีสมาชิกสมทบ (associate members) 9 แห่ง (เป็นดินแดนที่ยังมิได้ปกครองตนเอง/มิได้เป็นรัฐอิสระ/มิได้เป็นสมาชิกสหประชาชาติ) ครอบคลุมประชากรกว่าร้อยละ 60 ของประชากรโลก

·       เอสแคปเป็นองค์กรบริหาร (executing agency)  ที่เน้นดำเนินการในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคและประเด็นเกิดใหม่ที่สำคัญต่อภูมิภาค เช่น การขจัดความยากจน วิกฤตเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงาน การจัดการกับภัยพิบัติ การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ความเท่าเทียมกันทางเพศและการส่งเสริมบทบาทของสตรี ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

·       เอสแคปจัดการประชุมคณะกรรมาธิการในระดับรัฐมนตรีปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม ของทุกปี เพื่อให้ประเทศสมาชิกแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาสำคัญทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาค รวมทั้งพิจารณาอนุมัติแผนงานของคณะกรรมาธิการฯ

·       สำหรับช่วงระหว่างการประชุมประจำปีนั้น เอสแคปจะมีกลไกประสานงานหลัก คือ Advisory Committee of Permanent Representatives and other Representatives designated by members of the Commission (ACPR) โดยมีการประชุมเป็นประจำทุก ๆ 6 สัปดาห์เพื่อให้ประเทศสมาชิกได้หารือกับสำนักงานเลขาธิการ

ประเด็นสำคัญ

·       เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2556 เลขาธิการสหประชาชาติได้แต่งตั้ง Ms. Shamshad Akhtar ชาวปากีสถาน

ซึ่งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการเงินของ UNSG (SG’s Senior Advisor on Economic Development and Finance) และเคยดำรงตำแหน่ง ASG ที่ดูแล Department of Economic and Social Affairs (DESA)  เป็นเลขาธิการบริหารเอสแคปคนใหม่แทน ดร. เฮเซอร์ ซึ่งกำลังจะพ้นจากวาระช่วงต้นปี 2557

·       เอสแคปจะจัดการประชุมประจำปี สมัยที่ 70 ที่กรุงเทพฯ ช่วง 19-23 พฤษภาคม 2557 โดยพิธีเปิดกำหนดจะมีขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติ ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศที่ตั้งของเอสแคป นรม.จะเข้าร่วมและกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการประชุม (ยกเว้นในปี 2556 ซึ่ง นรม. เดินทางไปเยือนมองโกเลีย)

---------------------------------

กรมองค์การระหว่างประเทศ

กองกิจการเพื่อการพัฒนา