การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ม.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 29,413 view

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

 

ภูมิหลัง

                   1.    องค์การสหประชาชาติมีกลไกด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลัก 2 กลไก ได้แก่

                          1.1 กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change หรือ UNFCCC) ค.ศ. 1992 มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาระดับความเข้มข้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย เพื่อให้ระบบนิเวศน์ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศตามธรรมชาติ และไม่เกิดผลกระทบต่อการผลิตอาหารและการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน แต่มิได้กำหนดระดับหรือปริมาณการรักษาหรือการลดก๊าซฯ ที่แน่นอน เพียงแต่กำหนดให้กลุ่มประเทศ Annex I[1] มีนโยบายและมาตรการที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซฯ ร่วมกันให้อยู่ในระดับของปี ค.ศ. 1990 แต่ไม่มีมาตรการบังคับ

                          1.2 พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ค.ศ. 1997 และมีผลบังคับใช้ในปี ค.ศ. 2005

เพื่อบังคับการดำเนินการตามพันธกรณีภายใต้ UNFCCC โดยกำหนดให้กลุ่มประเทศ Annex I จะต้องรักษาปริมาณการปล่อยก๊าซฯ รวมกันให้ต่ำกว่าระดับการปล่อยในปี ค.ศ. 1990 อย่างน้อยร้อยละ 5 ภายในระหว่างปี ค.ศ. 2008-2012 และมีกลไกเพื่อช่วยสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าวของ Annex I ได้แก่ (1) การดำเนินการร่วม (Joint Implementation: JI) (2) การซื้อขายก๊าซเรือนฯ (Emission Trading: ET) และ (3) กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM)

     2.    นอกจากกลไกหลักข้างต้นแล้ว UNFCCC ได้จัดตั้งคณะทำงาน Durban Platform (Ad Hoc Working Group on the Durban Platform for Enhanced Actions: ADP) เพื่อพัฒนาข้อตกลงที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ในรูปแบบพิธีสารฉบับใหม่ หรือ Legal instrument หรือ agreed outcome ที่มีผลทางกฎหมาย ภายใต้ UNFCCC ที่จะมีผลผูกพันทุกประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาฯ ภายในปี ค.ศ. 2015 และให้มีผลบังคับใช้ในปี ค.ศ. 2020

พัฒนาการล่าสุด

                   1.    ที่ประชุมภาคีกรอบอนุสัญญา สมัยที่ 18 (Conference of the Parties – COP18 / CMP 6) ค.ศ. 2012 ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ ได้รับรองร่างข้อตัดสินใจให้มีการแก้ไขพิธีสารเกียวโตเพื่อเริ่มพันธกรณีช่วงที่สอง (second commitment period) ของพิธีสารฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2013 – 31 ธันวาคม ค.ศ. 2019 (ระยะเวลา 8 ปี)

                   2.    ประเทศไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการภายในก่อนที่จะดำเนินการส่งสารตรายอมรับ (Instrument of Acceptance) การแก้ไขพิธีสารเกียวโตต่อไป

การดำเนินงานภายในประเทศของไทย

                     1.  (ร่าง) แผนแม่บทรับรองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 25562593 สำนักโยบายและแผนฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ยกร่างแผนแม่บท เมื่อปี 2556 และได้ทำการปรับแก้ร่างจนเป็นร่างฉบับปัจจุบัน ซึ่งที่ประชุมคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านวิชาการ ครั้งที่ 2556 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2556 ได้เห็นชอบต่อร่างแผนแม่บท และจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

                     2.  แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (2555 2559) กำหนดให้ปรับกระบวนทัศน์ และทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างบูรณาการ และเตรียมพร้อมไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Low-carbon society) รวมทั้งการแก้ปัญหาความยากจน และเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน

                     3.. จัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ในปี 2550 เพื่อวิเคราะห์ กลั่นกรอง และให้ความเห็นเกี่ยวกับการให้คำรับรองโครงการลดการปล่อยก๊าซฯ ตาม CDM ปัจจุบัน ได้รับรองโครงการ CDM กว่า 182 โครงการ โดยมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซฯ ทั้งนี้ อบก. มีแผนที่จะพัฒนาตลาดคาร์บอนแบบสมัครใจของไทย (Domestic Voluntary Carbon Market) เพื่อสร้างกลไกสนับสนุนการดำเนินการลดก๊าซฯ และเชื่อมโยงกับตลาดคาร์บอนในประเทศต่าง ๆ

                     3.  กระทรวงพลังงานได้ประกาศแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (2554 – 2573) มีเป้าหมายลดความเข้มข้นการใช้พลังงาน (energy intensity) ลงร้อยละ 25 และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 10 ปี (2555 – 2564) มีเป้าหมายที่จะใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกให้ได้ร้อยละ 25 ในปี 2564

ท่าทีของไทย

·         การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศ เป็นหนึ่งในสิ่งท้าทายหลักของโลกปัจจุบัน มีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อชีวิตความเป็นอยู่ ทั้งความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และน้ำ ตลอดจนการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทุกประเทศและทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไข ไทยสนับสนุนความร่วมมือในกรอบสหประชาชาติ และความร่วมมือในภูมิภาคและอนุภูมิภาครวมทั้งอาเซียนที่จะแก้ไขผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

·         สนับสนุนการแก้ไขพิธีสารเกียวโตเพื่อเริ่มพันธกรณีช่วงที่สองของพิธีสารฯ และสนับสนุนให้ประเทศในภาคผนวก 1 เสนอตัวเลขการลดการปล่อยก๊าซฯ ที่มากขึ้น

·         การเจรจาความตกลงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องอยู่บนพื้นฐานของ 1)หลักการของความเสมอภาค (Equity) 2) ความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างโดยคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละประเทศ (Common but Differentiated Responsibilities and Respective Capabilities) 3) หลักความรับผิดชอบในอดีต (historical responsibilities)  และ 4) การขจัดความยากจน (poverty eradication)

·         ประเทศกำลังพัฒนาจะดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามขีดความสามารถและสถานการณ์ของแต่ละประเทศ และอยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจ โดยคำนึงถึงความจำเป็นที่จะได้รับการสนับสนุนในด้านการเงินและการลงทุน การเสริมสร้าง ถ่ายทอด และพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยี และการเสริมสร้างสมรรถนะของบุคลากร เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถปรับตัวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากประเทศพัฒนาแล้ว

·         สนับสนุนการดำเนินการของกลไกต่าง ๆ ภายใต้อนุสัญญาฯ อาทิ Green Climate Fund, Adaptation Committee ,Technology Executive Committee โดยเฉพาะแหล่งเงินทุนในระยะยาวที่จะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของประเทศกำลังพัฒนา

·          สนับสนุนให้ประเทศพัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญสำหรับ post-2012 regime แต่โดยที่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเป็นปัญหาร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศ ประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งไทยก็สามารถมีมาตรการโดยสมัครใจที่จะลดก๊าซเรือนกระจก

------------------------------------------ 

 

กรมองค์การระหว่างประเทศ

กองกิจการเพื่อการพัฒนา

 

 



[1] กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วในกลุ่ม OECD  และประเทศในยุโรปกลาง ยุโรปตะวันออก และรัสเซีย