คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ม.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 30,513 view

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC)

 

1.        ภูมิหลัง

แนวความคิดในการจัดตั้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเกิดขึ้นในปี 2500 (ค.ศ. 1957)  โดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจสำหรับเอเชียและตะวันออกไกล (United Nations Economic Commission for Asia and the Far East: ECAFE)[1] ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมในประเทศลุ่มน้ำต่าง ๆ

ต่อมา แม่น้ำโขงได้รับเลือกจาก ECAFE ให้เป็นหัวข้อการศึกษาเชิงลึกในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากน้ำท่วม ซึ่งทำความเสียหายให้กับประเทศต่าง ๆ ในลุ่มน้ำ ได้แก่ จีน เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย แต่เนื่องจากจีนและเมียนมาร์ ซึ่งเป็น 2 ประเทศลุ่มน้ำตอนบนมีปัญหาการเมืองภายในและไม่ได้เข้าร่วมกับ ECAFE ในขณะที่ 4 ประเทศลุ่มน้ำตอนล่าง ได้แก่ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย ให้ความสนับสนุนการศึกษาปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง และได้ลงนามในอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขงทั้งหมด 4 ฉบับ มีความสำคัญต่อวิวัฒนาการของ MRC ตั้งแต่การจัดตั้งคณะกรรมการแม่น้ำโขง (Mekong Committee) ในปี ค.ศ. 1975  จนถึงปัจจุบัน ได้แก่

(1)     Statute on the Committee for Co-ordination of Investigations of the Lower Mekong Basin (1957)

(2)     Joint Declaration of Principles for Utilization of the Waters of the Lower Mekong Basin (1975)

(3)     Declaration on the Interim Committee for Co-ordination of Investigations of the Lower Mekong Basin  (1978)

(4)     Agreement on the Co-operation for the Sustainable Development of the Mekong River Basin (1995)

การจัดตั้ง MRC มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) การใช้น้ำอย่างสมเหตุสมผลและเป็นธรรม (2) การจัดการน้ำที่เกิดประโยชน์สูงสุดและเกิดผลเสียที่เป็นอันตรายน้อยที่สุด และส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนและ (3) การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องในลุ่มน้ำโขง ทั้งนี้ จีนและเมียนมาร์ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ตอนบนของลุ่มน้ำโขงได้เข้าร่วมเป็นประเทศคู่เจรจา (Dialogue Partner) กับ MRC ตั้งแต่ปี 2539 (ค.ศ. 1996)

2.        โครงสร้าง MRC ประกอบด้วยองค์กรบริหารถาวร 3 องค์กร ได้แก่

                   1)   คณะมนตรี (Council) ประกอบด้วยผู้แทนระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องของประเทศสมาชิกประเทศละ 1 คน มีการประชุมปีละ 1 ครั้ง ประธานคณะมนตรีมีวาระ 1 ปี หมุนเวียนตามลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษของชื่อประเทศสมาชิก ซึ่งในส่วนของไทย มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นสมาชิกคณะมนตรี

                   2)  คณะกรรมการร่วม (Joint Committee) ประกอบด้วยผู้แทนระดับไม่ต่ำกว่าอธิบดีของประเทศสมาชิกประเทศละ 1 คน มีการประชุมปีละ 2 ครั้ง ประธานคณะกรรมการร่วมมีวาระ 1 ปี หมุนเวียน ตามลำดับ ตัวอักษรภาษาอังกฤษของชื่อประเทศสมาชิก ซึ่งในส่วนของไทยมีปลัดกระทรวงทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นสมาชิกคณะกรรมการร่วม

                   3)  สำนักงานเลขาธิการ (Mekong River Commission Secretariat: MRCS): ขณะนี้มีสำนักเลขาธิการร่วมตั้งอยู่ที่เวียงจันทน์และกรุงพนญเปญ โดยผู้ประสานงานหลักฝ่ายไทย คือ กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย

 

3.        ยุทธศาสตร์หลักของ MRC

                        ตามยุทธศาสตร์ MRC ปี ค.ศ. 2011-2015  MRC จะพัฒนาการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยครอบคลุม 13 แผนงานในด้านต่าง ๆ ได้แก่ 1) การเกษตรและการชลประทาน  2) การพัฒนาลุ่มน้ำ 3) การจัดการความแห้งแล้ง 4) สิ่งแวดล้อม 5) การประมง 6) การจัดการอุทกภัย  7) การจัดการข้อมูลและองค์ความรู้   8) การเสริมสร้างขีดความสามารถ   9) การเดินเรือ   10) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ   11) การใช้พลังงานน้ำอย่างยั่งยืน   12) โครงการจัดการทรัพยากรแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน และ  13) โครงการจัดการลุ่มน้ำต่าง ๆ  

 

4.   กิจกรรม/แผนงานสำคัญใน MRC

                   4.1  การศึกษาการบริหารจัดการและการพัฒนาที่ยั่งยืนของแม่น้ำโขง รวมทั้งการศึกษาผลกระทบของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงสายประธาน (The Study on Sustainable Management and Development of the Mekong River including Impacts by Mainstream Hydropower Project)  หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Council Study การประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 18 มีมติให้จัดทำ Council Study เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้ประเทศสมาชิกทำการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจจากโครงการพัฒนาทั้งเชิงบวกและเชิงลบให้มีความชัดเจนก่อนการพัฒนาโครงการใด ๆ บนแม่น้ำโขงสายประธาน โดยครอบคลุม 6 สาขาหลัก ที่มีนัยสำคัญต่อการพัฒนาโครงการได้แก่ 1) การชลประทาน   2) การเกษตรและการใช้ที่ดิน 3) การใช้น้ำในครัวเรือนและอุตสาหกรรม 4) การป้องกันอุทกภัย 5) ไฟฟ้าพลังน้ำ และ 6) การคมนาคม ทั้งนี้ การศึกษา Council Study นี้เป็นส่วนหนึ่งของการบรรเทาข้อกังวลของประเทศสมาชิกท้ายน้ำของแม่น้ำโขงคือ กัมพูชา และเวียดนาม ต่อประเด็นการสร้างเขื่อนไซยบุรี ซึ่งกั้นแม่น้ำโขงสายประธานของ สปป.ลาว

                   4.2  การจัดประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 2 (2nd MRC Summit) เวียดนามจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ในวันที่ 5 เมษายน 2557 ณ นครโฮจิมินห์

                   นอกจากนี้ MRC ยังอยู่ระหว่างการจัดทำ/ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตามแผนงาน อาทิ ระเบียบปฏิบัติเรื่องการรักษาปริมาณการไหลของน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน (Procedures for Maintenance of Flow on the Mainstream: PMFM) ระเบียบปฏิบัติเรื่องการจัดการคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน (Procedures for Water Quality: PWQ) การจัดทำฐานข้อมูลด้านเศรษฐกิจ-สังคมลุ่มน้ำโขงตอนล่าง การปรับปรุงสภาพจำลองในอนาคตของลุ่มน้ำโขงตอนล่างและปรับปรุงยุทธศาสตร์ลุ่มน้ำ การจัดทำศูนย์ข้อมูลสารสนเทศกลางของ MRC เป็นต้น

 

5.  ความร่วมมือระหว่าง MRC กับเครือข่ายลุ่มน้ำระหว่างประเทศ

                   5.1  ความร่วมมือ Mekong – Danube  ข้อริเริ่มความร่วมมือนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการประชุม ASEM FMM 10 เมื่อเดือน มิ.ย. 2554 ซึ่งที่ประชุมเห็นประโยชน์ของการริเริ่มความร่วมมือระหว่างแม่น้ำโขงและแม่น้ำดานูบ โดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ ผ่านการศึกษาดูงานและการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกัน

                   5.2  ความร่วมมือ Mekong – Mississippi มีความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูล การวางแผนพัฒนาลุ่มน้ำ การจัดการอุทกภัย ไฟฟ้าพลังน้ำ และพื้นที่ชุ่มน้ำ

                   5.3  ความร่วมมือ Mekong – La Plata (ปารากวัย บราซิล อาร์เจนตินา อุรุกวัย และโบลิเวีย) มีความร่วมมือด้านการเดินเรือ การจัดการอุทกภัย ไฟฟ้าพลังน้ำ และการจัดการสิ่งแวดล้อม

                   5.4  ความร่วมมือ Mekong – Lake Victoria (เคนยา แทนซาเนีย และยูกันดา) มีความร่วมมือด้านการประมง การจัดการสิ่งแวดล้อม และพื้นที่ชุ่มน้ำ

                   5.5  ความร่วมมือ Mekong – Murray Darling (ออสเตรเลีย) มีความร่วมือด้านการจัดการอุทกภัย การจัดการข้อมูล และการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากร

------------------------------------    

กรมองค์การระหว่างประเทศ

กองกิจการเพื่อการพัฒนา



[1] ในปี 2517 ECAFE ได้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific – UNESCAP)