รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน การประชุมระดับรัฐมนตรีแห่งเอเชียแปซิฟิก: จากการพัฒนาแห่งสหัสวรรษสู่วาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. ๒๐๑๕

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน การประชุมระดับรัฐมนตรีแห่งเอเชียแปซิฟิก: จากการพัฒนาแห่งสหัสวรรษสู่วาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. ๒๐๑๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ส.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,431 view

เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๖ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานการประชุมระดับรัฐมนตรีแห่งเอเชีย-แปซิฟิก: จากการพัฒนาแห่งสหัสวรรษสู่วาระการพัฒนาของสหประชาชาติภายหลังปี ค.ศ. ๒๐๑๕ (Asia-Pacific Ministerial Dialogue: From the Millennium Development Goals to the UN Development Agenda beyond 2015) ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ

การประชุมครั้งนี้เป็นข้อริเริ่มของไทย โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกได้หารือระดับนโยบายและกำหนดวาระการพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายของภูมิภาคภายหลังปี ค.ศ. ๒๐๑๕ ซึ่งเป็นปีที่เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals – MDGs) สิ้นสุดลง

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลง ใจความสำคัญว่าวาระการพัฒนาของสหประชาชาติภายหลัง ค.ศ. ๒๐๑๕ ต้องสะท้อนถึงการแก้ไขปัญหาและความท้าทายของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เช่น ความยากจนและภัยพิบัติทางธรรมชาติ  ผสมผสานคุณค่าความยุติธรรม ความยั่งยืน และการอยู่ร่วมกัน รวมทั้งต้องมีประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา นอกจากนี้ เป็นการสานต่อเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ที่เน้นการขจัดความยากจนและความหิวโหย ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ พัฒนาการศึกษา ปรับปรุงสุขาภิบาล และสาธารณสุข รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเน้นว่าวาระการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. ๒๐๑๕ ต้องอยู่ภายใต้หลักการไม่ปล่อยทิ้งใครไว้ข้างหลัง

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศชี้ปัจจัย ๔ ประการที่ควรบรรจุในวาระการพัฒนาของสหประชาชาติภายหลัง ค.ศ. ๒๐๑๕ ได้แก่ ๑) การแก้ไขปัญหาความเหลี่อมล้ำทางสังคมโดยเฉพาะในกลุ่มสตรี เด็กหญิง คนพิการ และกลุ่มเปราะบาง ๒) การปรับปรุงด้านสาธารณสุขและการใช้ระบบการประกันสุขภาพอย่างทั่วถึง ๓) การลดความเสี่ยงและการเตรียมพร้อมในการเผชิญภัยพิบัติ ๔) การส่งเสริมหลักนิติธรรมธรรมาภิบาลและการสร้างหลักประกันทางสิทธิมนุษยชนและสิทธิขั้นพื้นฐาน

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศผลักดันให้ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างพลังในการต่อรองให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อการแก้ไขปัญหาด้านสันติภาพ ความมั่นคงและการพัฒนาซึ่งล้วนเกี่ยวโยงกัน รวมทั้งส่งเสริมการสร้างหุ้นส่วนระหว่างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกกับภูมิภาคอื่นของโลกเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนโลกให้ดียิ่งขึ้นไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ