การสัมมนาเพื่อให้ข้อมูลต่อประชาชนเกี่ยวกับกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างประชาคมยุโรปและรัฐสมาชิกกับราชอาณาจักรไทย (PCA)

การสัมมนาเพื่อให้ข้อมูลต่อประชาชนเกี่ยวกับกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างประชาคมยุโรปและรัฐสมาชิกกับราชอาณาจักรไทย (PCA)

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ส.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,159 view

เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๖ กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดการสัมมนาเพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชนเกี่ยวกับกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างประชาคมยุโรปและ    รัฐสมาชิกกับราชอาณาจักรไทย หรือ “กรอบความตกลง PCA”  มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมกับภาครัฐในการจัดทำ PCA เพิ่มเติมจากกระบวนการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ บัญญัติไว้ พร้อมทั้งรับทราบเนื้อหาในภาพรวม กระบวนการจัดทำและประโยชน์ของ PCA ต่อประเทศและประชาชนไทย  รวมทั้งการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นภายหลัง PCA มีผลบังคับใช้

นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวเปิดการสัมมนาฯ โดยชี้ให้เห็นว่ายุโรปโดยเฉพาะสหภาพยุโรป (EU) ยังคงไว้ซึ่งบทบาทที่สำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมในเวทีระหว่างประเทศ ขณะที่ไทยเองมีระดับการพัฒนาสูงขึ้นและยึดมั่นในค่านิยมสากลเช่นเดียวกับ EU    ปัจจัยแวดล้อมระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปได้เกื้อหนุนให้ EU และไทยก้าวเข้าสู่ความสัมพันธ์ยุคใหม่ที่มีความเป็นหุ้นส่วนมากขึ้นและเอื้ออำนวยต่อการกระชับความร่วมมือในด้านต่าง ๆ มากขึ้น กรอบความตกลง PCA เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับ EU และประเทศสมาชิกของ EU  และจะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันและมาตรฐานด้านต่าง ๆ ของประเทศไทยและคุณภาพชีวิตของประชาชน
 

ผู้แทนหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับภูมิภาคยุโรป รวมทั้งจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ และคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป ได้ร่วมเป็นวิทยากร โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม วิชาการ สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกว่า 130 คน โดยวิทยากรทุกท่านต่างเห็นพ้องว่า กรอบความตกลง PCA ซึ่งรวมประเด็นความร่วมมือด้านการต่างประเทศระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกทุกมิติมาอยู่ภายใต้ความตกลงเดียวกันบนพื้นฐานค่านิยมร่วมกันนั้น เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศไทยอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยสนับสนุนความร่วมมือและการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่ EU มีความโดดเด่น ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน พลังงาน วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม การเมืองและความมั่นคง สิทธิมนุษยชน ธรรมาภิบาล
 

นอกจากนี้ PCA ยังช่วยเพิ่มช่องทางให้ทุกภาคส่วนสามารถร่วมกำหนดทิศทางความร่วมมือกับ EU ขณะเดียวกันก็จะเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนของไทยบูรณาการกันมากขึ้น เพื่อให้การดำเนินความสัมพันธ์และความร่วมมือของไทยต่อ EU เป็นไปในทิศทางเดียวกันยิ่งขึ้น  พร้อมทั้งปรับตัว เตรียมความพร้อมต่อประเด็นท้าทาย รวมทั้งผลักดันผลประโยชน์ของไทยต่อ EU ต่อไป
 

ปัจจุบันการเจรจาสาระสำคัญของร่างกรอบความตกลง PCA ระหว่างไทยกับ EU ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว และทั้งสองฝ่ายกำลังดำเนินกระบวนการภายในเพื่อนำไปสู่การลงนามความตกลงฯ  ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะนำความเห็นที่ได้รับจากเวทีสัมมนาฯ ในครั้งนี้ รายงานให้รัฐบาลทราบ เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และรัฐสภาต่อไป รวมทั้งจะนำข้อสนเทศต่าง ๆ ไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยต่อ EU และประเทศสมาชิกด้วย ทั้งนี้ เมื่อมีการลงนามความตกลง PCA แล้ว กระทรวงการต่างประเทศจะเผยแพร่รายละเอียดที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนทราบตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญต่อไป
 

ผู้สนใจสามารถหาข้อมูลผลการสัมมนาฯ และ download เอกสารประกอบการสัมมนาฯ ได้ที่เว็บไซต์กรมยุโรป www.europetouch.in.th และเว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ และคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป www.thaieurope.net

 

**********************************
  


๓๐  สิงหาคม ๒๕๕๖

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ