วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ม.ค. 2513
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์
Republic of the Marshall Islands
ที่ตั้ง ตั้งอยู่ในภูมิภาคแปซิฟิกตอนกลาง ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของโฮโนลูลูประมาณ 2,200 ไมล์ และทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะกวมประมาณ 1,600 ไมล์
พื้นที่ 181.3 ตารางกิโลเมตร มีเกาะต่าง ๆ 1,225 เกาะ
เมืองหลวง กรุงมาจูโร (Majuro)
ภูมิประเทศ สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ ประกอบด้วย 29 หมู่เกาะ และ 5 เกาะเดี่ยว โดยทั้งหมู่เกาะและเกาะเดี่ยวที่สำคัญที่สุดแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ แนวเกาะราตัก และแนวเกาะราลิก
ภูมิอากาศ อยู่ในเขตร้อนชื้น และมีไต้ฝุ่นเป็นครั้งคราว อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 80 องศาฟาเรนไฮท์
ประชากร 56, 007 คน (2555)
เชื้อชาติ ชาวพื้นเมืองมาร์แชลล์ (Marshallese) ร้อยละ 90% และเชื้อชาติอื่นๆ ร้อยละ 10
ศาสนา คริสต์
ภาษา Marshallese และภาษาอังกฤษ
หน่วยเงินตรา ดอลลาร์สหรัฐ
วันชาติ 21 ตุลาคม 2529 เป็นวันที่สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ได้รับเอกราชจากสหรัฐอเมริกา
GDP 134 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2555)
GDP per capita 1,956 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2555)
Real GDP Growth ร้อยละ 5.4 (2555)
อุตสาหกรรมที่สำคัญ มะพร้าวตากแห้ง ประมง การท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์จากหอยมุก
สินค้าส่งออกที่สำคัญ ปลาและผลิตภัณฑ์จากทะเล ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว
สินค้านำเข้าที่สำคัญ อาหาร เครื่องจักร เครื่องดื่มน้ำมัน ใบยาสูบ
ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน
เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) 200 ไมล์ทะเล
ปัจจุบันสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์มีความสัมพันธ์แบบ Compact of Free Association กับสหรัฐฯ โดยทั้งสองประเทศได้ลงนามแก้ไขสนธิสัญญาระหว่างกัน (Amendment to their Compact of Free Association) เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2525 และสนธิสัญญาดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2529 ซึ่ง Compact of Free Association ส่งผลให้ สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์สามารถออกนโยบายสำหรับบริหารภายในประเทศและนโยบายต่างประเทศ (domestic and foreign policy) ยกเว้นนโยบายด้านการทหารและความมั่นคง (defense and security) ในสนธิสัญญาฯ สหรัฐฯ ตกลงที่จะมอบความช่วยเหลือด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจแก่สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์เป็นเวลา 20 ปี คิดเป็นมูลค่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และประชากรของ สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ สามารถเดินทางเข้า-ออกประเทศสหรัฐฯ ได้ภายใต้ US Federal Program ซึ่งอนุญาตให้ชาวมาร์แชลล์สามารถเดินทางไปทำงานและท่องเที่ยวในสหรัฐฯได้
สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยรวมเอาหลักการของทั้งรัฐธรรมนูญอังกฤษและสหรัฐฯ หมู่เกาะมาร์แชล์ประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อปี 2522 ซึ่งกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎร (มีชื่อเรียกว่า Nitijela) ต้องประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 33 คน (5 คนมาจากกรุง Majuro ซึ่งเป็นเมืองหลวง และอีก 3 คนมาจากเมือง Ebeye ซึ่งเป็นเกาะที่มีประชากรมากที่สุดของสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ อีก 25 คนมาจากเขตการปกครองต่างๆ ทั่วประเทศ) มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนทุก 4 ปี อย่างไรก็ดี ขณะนี้ไม่มีพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการในสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ มีแต่การรวมกลุ่มทางการเมืองของ 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่ม Aleon Kein AD(AKA) และกลุ่ม UDP
นอกจากนี้ หมู่เกาะมาร์แชลล์ยังมีสภาของหัวหน้าเผ่า (Coucil of Iroij) ประกอบด้วยสมาชิกหัวหน้าเผ่า (tribunal chief) จำนวน 12 คน ซึ่งทำหน้าที่ให้คำปรึกษาประธานาธิบดีและกลั่นกรองกฎหมายที่จะส่งผลกระทบต่อกฎหมายจารีตประเพณีหรือขนบธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติต่อๆกันมา รวมทั้งการครอบครองที่ดิน
รูปแบบการปกครองของหมู่เกาะมาแชลล์เป็น ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา รัฐธรรมนูญเป็นแบบ Semi - Westminster รัฐสภามีสองสภา
ประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาล ปัจจุบัน ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐมหู่เกาะมาร์แชลล์ คือ นาย Christopher Loeak
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คือ นาย Phillip H. Muller
สถานการณ์ทางการเมืองล่าสุด
สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์จัดการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2554 สภาผู้แทนราษฎรได้คัดเลือกให้นาย Christopher Loeak ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
ระบบเศรษฐกิจของสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์มีขนาดเล็กมาก การส่งออกมีปริมาณต่ำ และยังคงพึ่งพาความช่วยเหลือด้านการเงินจากสหรัฐฯ ภายใต้ Compact of Free Association เป็นหลัก โดยร้อยละ 80 ของรายได้รัฐบาลทั้งทางตรงและทางอ้อมจะมาจากสหรัฐฯ อัตราการจ้างงานส่วนใหญ่มาจากภาครัฐมากกว่าภาคเอกชน อุตสาหกรรมที่เริ่มขยายตัวในปัจจุบัน คือ อุตสาหกรรมการก่อสร้าง อุตสาหกรรมภายในประเทศที่มีความสำคัญอื่นๆ ได้แก่ การประมง การผลิตเครื่องดื่มจากผลคาวา หัตถกรรม และการเกษตรกรรมอื่นๆ
รัฐบาลสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการส่งเสริมการท่องเที่ยว การประมง และเน้นการลงทุนที่มีศักยภาพอื่นๆ เพื่อลดขนาดการจ้างแรงงานของภาครัฐ และลดการอุดหนุนกิจการบางประเภท เช่น สายการบิน Air Marshall และธุรกิจการผลิตเครื่องดื่มจากผลคาวา
ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
แม้ว่าสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์จะมีความสัมพันธ์แบบ Compact of Free Association กับสหรัฐฯ แต่ก็สามารถกำหนดนโยบายด้านต่างประเทศเองได้ โดยประเด็นด้านการต่างประเทศที่สำคัญ คือ การที่สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์เรียกร้องค่าเสียหายจากสหรัฐฯ กรณีที่สหรัฐฯ มาทดลองอาวุธนิวเคลียร์ที่หมู่เกาะนี้ระหว่างปี 2489 – 2501 (ค.ศ. 1946 – 1958) ซึ่งจากการเจรจาครั้งล่าสุดสหรัฐฯ ยินยอมจ่ายค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับญี่ปุ่นและไต้หวัน ซึ่งทั้งสองประเทศได้เข้ามาตั้งสถานเอกอัครราชทูตในกรุง Majuro สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ยังเป็นสมาชิก United Nation (UN), United Conference on Trade and Development (UNCTAD), United Nations Education, Scientific and Cultural Organisation (UNESCO), World Health Organisation (WHO), Asian Development Bank (ADB), Economic and Social Commission for Asia and the Pacific (ESCAP), Group of 77, IAEA, International Bank for Reconstruction & Development (IBRD), International Civil Aviation Organisation (ICAO), International Development Association (IDA), International Finance Corporation (IFC), International Monetary Fund (IMF), IMO, Inmarsart, International Telecommunications Satellite Organisation (Intelsat), Interpol, International Telecom Union (ITU), South Pacific Regional Trade and Economic Co-operation Agreement (Sparteca), Secretariat of the Pacific Community (SPC), Pacific Islands Forum (PIF)
ไทยและสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตตระหว่างกันเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2536 โดยมีคณะทูตถาวรแห่งประเทศไทย ณ นครนิวยอร์กเป็นจุดติดต่อประสานงานกับสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์
ปัจจุบันสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์มีการค้ากับไทยเป็นอันดับที่ 6 (ไม่รวมออสเตรเลียและนิวซีแลนด์) ในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ โดยระหว่างเดือนมกราคม – เดือนกันยายน 2554 มูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 90.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกมูลค่า 0.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออก คือ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องนุ่งห่ม น้ำตาลทราย ไทยนำเข้ามูลค่า 89.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าได้แก่ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป เรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ ไทยขาดดุลระหว่างเดือนมกราคม – เดือนกันยายน 2554 เป็นเงิน 89.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ 2554)
การหารือทวิภาคี
- รองนายกรัฐมนตรี สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ได้หารือกับ Hon. Gerald M. Zackios รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างการประชุม Post-Forum Dialogue ครั้งที่ 17 ของการประชุม PIF เมื่อเดือน ตุลาคม 2548 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของ สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ได้แสดงความสนใจที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านโรคเอดส์ พลังงานทดแทน การประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการพัฒนาการท่องเที่ยว
- นายจิระชัย ปั้นกระษิณ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ ได้หารือกับนาง Kina S. Kabua ปลัดกระทรวงการต่างประเทศของสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ ระหว่างการประชุม Post-Forum Dialogue ครั้งที่ 22 ที่กรุงพอร์ตวิลา ประเทศวานูอาตู ในวันที่ 3-6 สิงหาคม 2553
- นายจิระชัย ปั้นกระษิณ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ ได้หารือกับนาย Bernard Adiniwin, Deputy Secretary of Foreign Affairs (รองปลัด กต. หมู่เกาะมาร์แชลล์) และนาย Bruce Kijner Secretary of Resources and Development ระหว่างการประชุม Post-Forum Dialogue ครั้งที่ 23 ที่นครโอคแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ในวันที่ 6 กันยายน 2554
- นายนพปฎล คุณวิบูลย์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือกับผู้แทนฝ่ายหมู่เกาะมาร์แชลล์ ระหว่างการประชุม Post-Forum Dialogue ครั้งที่ 25 ที่กรุงมาจูโร หมู่เกาะมาร์แชลล์ ในวันที่ 6 กันยายน 2556
การแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกัน
- เดือนพฤษภาคม 2547 นายนิสสัย เวชชาชีวะ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนหมู่เกาะมาร์แชลล์ เนื่องในโอกาสเข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปี รัฐธรรมนูญสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์
***********************************************
สถานะ ณ กันยายน 2556
กองแปซิฟิกใต้ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0-2203-5000 ต่อ 13028 โทรสาร. 0-2643-5127 E-mail : [email protected]
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **