สาธารณรัฐคิริบาส

สาธารณรัฐคิริบาส

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ม.ค. 2513

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 15,232 view


สาธารณรัฐคิริบาส
Republic of Kiribati

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง บริเวณเส้นศูนย์สูตรของมหาสมุทรแปซิฟิก อยู่กึ่งกลางระหว่างมลรัฐฮาวายและออสเตรเลีย

พื้นที่ 811 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะขนาดใหญ่ 1 เกาะและหินปะการังขนาดเล็ก 32 เกาะ มีเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone – EEZ) 3,550,000 ตารางกิโลเมตร

เมืองหลวง กรุงตาระวา (Tarawa)

ภูมิประเทศ หมู่เกาะล้อมรอบด้วยแนวหินปะการังและแนวหินโสโครกที่กว้างใหญ่

ภูมิอากาศ เขตร้อนแถบทะเลเส้นศูนย์สูตร

ประชากร 103,248 คน (ก.ค. 2556)

เชื้อชาติ ไมโครนีเซีย (Micronesian) ร้อยละ 98.8 และอื่นๆ ร้อยละ 1.2

ศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกร้อยละ 55 และนิกายคิริบาสโปรแตนแตนท์ร้อยละ 41

ภาษา อังกฤษ (ภาษาทางการ) และภาษาพื้นเมือง Gilbertese/I-Kiribati

หน่วยเงินตรา ดอลลาร์ออสเตรเลีย

วันประกาศเอกราช ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อ 12 กรกฎาคม 2522 (ค.ศ. 1979)

GDP 174 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2555)

GDP per capita 5,900 ดอลลาร์สหรัฐ (2555)

Real GDP growth ร้อยละ 2.5 (2555)

อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว เนื้อมะพร้าวแห้ง ปลา

ตลาดส่งออก ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ ไทย

ตลาดนำเข้า ออสเตรเลีย ฟิจิ นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา

สินค้าส่งออก เนื้อมะพร้าวแห้ง มะพร้าว ปลาสวยงาม สาหร่ายทะเล

สินค้านำเข้า อาหาร เครื่องจักรและอุปกรณ์ สินค้าอุตสาหกรรม น้ำมัน 

การเมืองการปกครอง

           การเมืองของคิริบาสมีความมั่นคงมาก โดย นาย Anote Tong ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ชนะการเลือกตั้งแล้ว 3 ครั้ง (ครั้งที่ 1 เดือนตุลาคม 2546 ครั้งที่ 2 เดือนตุลาคม ปี 2550 และล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2555) การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายของนาย Tong เพราะรัฐธรรมนูญของคิริบาสกำหนดให้ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 3 วาระ

            รัฐสภาของคิริบาสมีเพียงแค่สภาล่าง (House of Assembly) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 46 คน (44 คนมาจากการเลือกตั้ง 1 คนมาจากการแต่งตั้งจาก Banaban Community และอัยการสูงสุด 1 คน) ชาวเกาะ Banaba มีความพยายามจะแยกตัวเป็นรัฐภายใต้ความคุ้มครองของฟิจิ เนื่องจากเกาะ Banaba ถูกรัฐบาลใช้พื้นที่ในการทำเหมืองแร่ฟอสเฟต ประชากรส่วนใหญ่จึงได้ย้ายถิ่นฐานไปตั้งถิ่นฐานที่เกาะ Rabi ของฟิจิในช่วงทศวรรษที่ 1940 และรู้สึกพึงพอใจกับสิทธิของการเป็นพลเมืองฟิจิ รัฐบาลคิริบาสได้เจรจากับชาว Banaba โดยได้ปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญให้มีผู้แทน Banaba เป็นสมาชิกรัฐสภา 1 ที่นั่ง และจะมอบที่ดินซึ่งรัฐบาลใช้ในการทำเหมืองแร่ฟอสเฟตคืนให้แก่ชาว Banaba อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีประชากรอาศัยอยู่ในเกาะนี้เพียง 200-300 คน

            คิริบาสเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศอยู่ระดับต่ำกว่าน้ำทะเล (low-lying state) และได้รับผลกระทบจากการหนุนของน้ำทะเลที่มีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีผลทำให้น้ำทะเลท่วมฝั่งคิริบาสบ่อยครั้ง นาย Anote Tong ประธานาธิบดีคิริบาสยังเป็นหนึ่งในผู้นำที่เรียกร้องให้นานาประเทศคำนึงถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เศรษฐกิจการค้า

            คิริบาสมีศักยภาพในการเป็นแหล่งปลาทูน่าสำหรับป้อนให้แก่อุตสาหกรรมปลากระป๋องในไทย เนื่องจากมีเขตเศรษฐกิจจำเพาะขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก อย่างไรก็ตาม คิริบาสออกใบอนุญาตให้ชาวต่างชาติทำการประมงเพียง 2 ลักษณะ คือ การจับปลาแบบอวนล้อม (purse seine) และเบ็ดราว (long-line) ในขณะที่ประมงไทยมีความเชี่ยวชาญด้านอวนลาก (trawler)

            เศรษฐกิจของคิริบาสต้องเผชิญกับข้อจำกัดที่สำคัญที่เป็นข้อจำกัดร่วมกันของบรรดาประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกอื่น ๆ คือ การที่ประเทศมีขนาดเล็ก อยู่ห่างไกล และมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เป็นเกาะเล็กเกาะน้อยกระจายทั่วไป สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่กันดารและดินไม่มีคุณภาพ มีทรัพยากรธรรมชาติที่จะสามารถนำมาทำประโยชน์ได้อย่างจำกัด และมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างงานและส่งเสริมการเพิ่มจำนวนประชากรเพื่อการขยายจำนวนประชากรของประเทศ อีกทั้งคิริบาสในฐานะ (low-lying state) ยังเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกอีกด้วย

            ส่วนใหญ่เศรษฐกิจคิริบาสขึ้นอยู่กับเงินค่าจดทะเบียนใบอนุญาตทำการประมงในน่านน้ำนอกชายฝั่งที่ไกลออกไปแก่ประเทศต่าง ๆ อาทิ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และสหรัฐฯ ซึ่งทำรายได้เข้าประเทศถึงปีละ 20 – 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าคิริบาสจะต้องสูญเสียรายได้นับล้านดอลลาร์สหรัฐจากเรือประมงที่จับปลาโดยผิดกฎหมายด้วยก็ตาม ปลาส่วนใหญ่ที่จับจากน่านน้ำคิริบาสจะถูกส่งเข้าแปรรูปที่โรงงานในประเทศไทยและเปอร์โตริโก และปลาคุณภาพดีบางส่วนจะถูกส่งไปยังตลาดออสเตรเลียและญี่ปุ่น คิริบาสยังมีรายได้จากการส่งเงินกลับประเทศของพลเมืองชาวคิริบาสที่ไปทำงานนอกประเทศ ซึ่งส่วนมากเป็นกลาสีเรือ อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสนใจว่า แม้จะมีขอบเขตทรัพย์สินทางเศรษฐกิจที่จำกัด แต่คิริบาสส่วนใหญ่ ยังมีประวัติที่มีความมั่นคงทางด้านการเงินมาตั้งแต่หลังได้รับเอกราชในปี 2522 ทุกรัฐบาลจะมีธรรมเนียมปฏิบัติในการใช้งบประมาณของประเทศอย่างระมัดระวัง ควบคู่ไปกับนโยบายการสะสมกำไรที่ได้จากการลงทุนนอกประเทศ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกองทุนการสร้างความสมดุลของเงินคงคลัง (Revenue Equalisation Reserve Fund – RERF) ซึ่งริเริ่มขึ้นในปี 2499 โดยสหราชอาณาจักร ด้วยเงินที่ได้จากการฝากเงินค่าสัมปทานการทำเหมืองฟอสเฟต (Banaba phosphate)

            ทั้งนี้ งบประมาณของรัฐบาลคิริบาสส่วนใหญ่มาจากเงินช่วยเหลือ โดยในปี 2554 คิริบาสได้รับเงินช่วยเหลือเป็นจำนวน 27.180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยความช่วยเหลือส่วนใหญ่มาจาก ออสเตรเลีย ไต้หวัน นิวซีแลนด์ World Bank และ ADB คิริบาสมีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 5-10 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี นักท่องเที่ยวเดินทางไปคิริบาสราว 3,000-4,000 คนต่อปี สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ได้แก่ สมรภูมิรบสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และเกาะ Millennium ซึ่งตั้งอยู่ที่เส้นแบ่งเวลาสากล และเป็นจุดแรกของโลกที่เฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ กิจกรรมที่นักท่องเที่ยวนิยมคือ ตกปลาและดำน้ำที่เกาะ Christmas ของคิริบาส

การต่างประเทศ

คิริบาสคงความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ในแปชิฟิก รวมถึงออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ และเป็นสมาชิกที่แข็งขันของกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก Pacific Islands Forum (PIF) รวมทั้งองค์การต่าง ๆ ในภูมิภาค คิริบาสเป็นสมาชิกของเครือจักรภพ (The Commonwealth) ตั้งแต่ได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2522 จากสหราชอาณาจักร และเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2542 คิริบาสยังเป็น 1 ใน 6 พันธมิตร (allies) ของไต้หวัน และสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันในปี 2546 โดยไต้หวันมีสถานเอกอัครราชทูตในกรุงตาราวา

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐคิริบาส

ความสัมพันธ์ทางการเมือง

ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับคิริบาสเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2548 โดยที่ไทยเน้นการหาลู่ทางในการขยายความร่วมมือด้านประมง และการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ ทั้งนี้ไทยให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการภายใต้กรอบ Annual International Training Courses (AITC) ของ สพร. ซึ่ง  คิริบาสเคยส่งผู้แทนเข้าร่วมหลักสูตรของ AITC ได้แก่หลักสูตร Enhancing Entrepreneurship in SME Development and Export Consortia เมื่อปี 2551

 

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

            การค้า ในปี 2555 มูลค่าการค้ารวมไทย-คิริบาสเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ถึงร้อยละ 36 โดยมีมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 38.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปคิริบาสคิดเป็นมูลค่า 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ คือ น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป เสื้อผ้าสำเร็จรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไทยนำเข้าจากคิริบาสคิดเป็นมูลค่า 35.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าส่วนใหญ่ได้แก่ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป กึ่งสำเร็จรูป และเคมีภัณฑ์ โดยไทยขาดดุลการค้า 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

การหารือทวิภาคระหว่างฝ่ายไทยกับคิริบาส

-  นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบหารือกับนาย Anote Tong ประธานาธิบดี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและตรวจคนเข้าเมืองคิริบาส ระหว่างการประชุม Post-Forum Dialogue ของ PIF ครั้งที่ 17 ที่กรุงพอร์ต มอร์สบี้ ประเทศปาปัวนิวกินี เมื่อเดือนตุลาคม 2548 โดยประธานาธิบดี Tong ได้แสดงความสนใจในพัฒนาด้านการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการพัฒนาการท่องเที่ยว

- นายจิระชัย ปั้นกระษิณ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ ได้พบหารือกับนาง Reteta Nikuata-Rimon ข้าหลวงใหญ่คิริบาสประจำฟิจิ ระหว่างการประชุม Post-Forum Dialogue ของ PIF ครั้งที่ 22 ที่กรุงพอร์ตวิลา ประเทศวานูอาติ ระหว่างวันที่ 3 – 6 สิงหาคม 2553 โดยคิริบาสสนใจที่จะรับความช่วยเหลือทางวิชาการจากไทย โดยเฉพาะในด้าน capacity-building ด้านการศึกษาการเกษตร การท่องเที่ยว สาธารณสุข พลังงานทดแทน ประมง และทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม

 

การเยือนของผู้นำระดับสูง

- นาย Kirabuke Teiaua รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณูปโภคคิริบาส (Ministry of Public Works and Utilities) เดินทางเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 (2nd Asia Pacific Water Summit – 2nd APWS) ระหว่างวันที่ 19 – 20 พฤษภาคม 2556 ที่จังหวัดเชียงใหม่

- นาย Anote Tong ประธานาธิบดีคิริบาส พร้อมด้วยภริยา และคณะ เดินทางเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม Asia-Pacific Population Conference ครั้งที่ 6 (6th Asia-Pacific Population Conference - APPC) ระหว่างวันที่ 16 – 21 กันยายน 2556 ที่กรุงเทพมหานคร

 

                                                                                ******************************************

                                                                                                                                                                                                     สถานะ ณ กันยายน 2556

กองแปซิฟิกใต้ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0-2203-5000 ต่อ 13028 โทรสาร. 0-2643-5127 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

world-20130712-123138-259540.pdf