สหพันธรัฐไมโครนีเซีย

สหพันธรัฐไมโครนีเซีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ม.ค. 2513

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 16,142 view


สหพันธรัฐไมโครนีเซีย
Federated States of Micronesia

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ ทางทิศตะวันออกของปาเลาและฟิลิปปินส์ 

พื้นที่ ไมโครนีเซียมีพื้นที่ทั้งหมด 702 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 607 เกาะ โดยแบ่งออกเป็น 4 หมู่เกาะหลักหรือมลรัฐ ได้แก่ Pohnpei (Ponape), Chuuk (Truk), Yap และ Kosrae (Kosaie)

ภูมิอากาศ แบบเขตศูนย์สูตร และมีภัยธรรมชาติจากพายุไต้ฝุ่นช่วงระหว่างเดือนมิถุนายนถึงธันวาคม

เมืองหลวง กรุงปาลิกีร์ (Palikir) ตั้งอยู่บนเกาะ Pohnpei

ประชากร 106,104 คน (ก.ค. 2556)

เชื้อชาติ ไมโครนีเซียนร้อยละ 84.6  และอื่น ๆ ร้อยละ15.6

ภาษา อังกฤษ ไมโครนีเซียน และภาษาท้องถิ่น อาทิ Yapase, Chuukese, Kosraean, Phonpeian

หน่วยเงินตรา ดอลลาร์สหรัฐ

ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) 327.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2555)

รายได้ประชาชาติต่อหัว (GDP per capita) 3,165 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2555)

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Real GDP growth) ร้อยละ 1 (ปี 2555)

อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 4 (ปี 2555)

อุตสาหกรรมหลัก ท่องเที่ยว ก่อสร้าง ประมง งานฝีมือ ไม้ และไข่มุก

ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร พริกไทยดำ ผัก/ผลไม้เมืองร้อน มะพร้าว มันสำปะหลัง

สินค้าส่งออกที่สำคัญ ปลา เสื้อผ้าสำเร็จรูป กล้วย พริกไทยดำ

ตลาดส่งออก สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา หมู่เกาะมาร์แชลล์

สินค้านำเข้าที่สำคัญ สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องจักรและอุปกรณ์ เครื่องดื่ม

ตลาดนำเข้า สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง ออสเตรเลีย

การเมืองการปกครอง

สหพันธรัฐไมโครนีเซียมีสถานะเป็นดินแดนภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกา (Trust Territory) ตั้งแต่ปี 2490 ต่อมาในปี 2529 ไมโครนีเซียได้รับเอกราชโดยการทำความตกลง Compact of Free Association กับสหรัฐฯ โดยภายใต้ความตกลงดังกล่าว สหรัฐฯ จะให้ความช่วยเหลือทางการเงิน และด้านกลาโหมและความมั่นคงแก่ไมโครนีเซีย

ไมโครนีเซียปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ โดยมีสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว สภาผู้แทนราษฎรของไมโครนีเซียประกอบด้วยสมาชิก 14 คน ซึ่ง 4 คน จะเป็นตัวแทนจากแต่ละมลรัฐ โดยอยู่ในวาระ 4 ปี ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีก 10 คน จะได้รับการเลือกตั้งตามเขตเลือกตั้ง 10 เขต โดยอยู่ในวาระ 2 ปี

ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจะถูกเลือกจากตัวแทนของแต่ละมลรัฐ และแต่งตั้งโดยสภา มีวาระ 4 ปี ประธานาธิบดีไมโครนีเซียเป็นทั้งประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาล ประธานาธิบดีไมโครนีเซียคนปัจจุบัน คือ นาย Emanuel (Manny) Mori

รูปแบบการปกครอง ระบอบสหพันธรัฐ (สภาเดียว)

ประธานาธิบดี (ประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาล) นาย Emanuel (Manny) Mori

รองประธานาธิบดี นาย Alik L. Alik 

รัฐมนตรีต่างประเทศ นาย Lorin Robert

ฝ่ายนิติบัญญัติ คณะรัฐมนตรีมี 14 ที่นั่ง 4 ที่นั่งมาจากผู้แทนจาก 4 มลรัฐ มีวาระ 4 ปี และอีก 10 คน มีวาระ 2 ปี

ฝ่ายตุลาการ ศาลสูง ( Supreme Court )

สถานการณ์ทางการเมืองล่าสุด
การเลือกตั้งครั้งล่าสุด คือ เมื่อเดือนมีนาคม 2554 นาย Emanuel (Manny) Mori และนาย Alik L. Alik ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สองติดต่อกัน

เศรษฐกิจการค้า

เศรษฐกิจของไมโครนีเซียจำเป็นต้องพึ่งพาสหรัฐอเมริกา โดยสหรัฐฯ ได้จัดสรรเงินช่วยเหลือภายใต้กรอบความตกลง Compact of Free Association เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และภาคบริการ

กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไมโครนีเซียประกอบด้วยการทำฟาร์ม และประมง นอกจากนี้ ไมโครนีเซียยังมีรายได้จากอุตสาหกรรมเหมืองแร่บางส่วน (ไม่รวมแร่ฟอสเฟต) และเครื่องปั้นดินเผาสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ไมโครนีเซียไม่มีสินค้าหลักที่จะนำรายได้เข้าประเทศ และต้องนำเข้าสินค้าอุปโภค-บริโภคจากต่างประเทศมูลค่าประมาณ 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี รายได้รัฐบาลมาจากเงินให้เปล่าจากต่างประเทศ (โดยสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ให้เงินช่วยเหลือไมโครนีเซียมากที่สุด) รายได้อื่น ๆ มาจากค่าธรรมเนียมการให้สัมปทานประมง (โดยจีนเป็นประเทศหลักในการขอสัมปทานจับปลาทูน่าในน่านน้ำไมโครนีเซียตั้งแต่ปี 2533)

อย่างไรก็ดี ไมโครนีเซียมีพื้นที่เหมาะสมต่อการทำการเกษตร (มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณร้อยละ 5.7 ของพื้นที่ทั้งหมด) แต่ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังขาดโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบันจึงเน้นการพัฒนาด้านการเกษตร อาทิ การปลูกพริกไทยดำ ผลไม้เมืองร้อน ผัก มะพร้าว มันสำปะหลัง การเลี้ยงสุกรและไก่ การประมง และการท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ

ในด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้น แม้ไมโครนีเซียจะมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามมากมาย แต่การท่องเที่ยวก็ยังได้รับอุปสรรคจากการขาดโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม ในปี 2556 ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank – ADB) ประเมินว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถเติบโตได้มากที่สุดของไมโครนีเซีย

ถึงแม้ไมโครนีเซียจะมีประชากรไม่มาก อีกทั้งยังได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ แต่ไมโครนีเซียกลับมีอัตราการว่างงานค่อนข้างสูง ซึ่งสาเหตุหลักประการหนึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของแรงงานชาวฟิลิปปินส์

การต่างประเทศ

ไมโครนีเซียมีผู้แทนทางการทูตใน 5 ประเทศ ได้แก่ ฟิจิ (สอท. ณ กรุงซูวา) ญี่ปุ่น (สอท. ณ กรุงโตเกียว) สาธารณรัฐประชาชนจีน (สอท. ณ กรุงปักกิ่ง) สหรัฐอเมริกา (สอท. ณ กรุงวอชิงตัน สกญ. ณ นครโฮโนลูลู มลรัฐฮาวาย สกญ. ณ เกาะกวม และ และคณะทูตถาวรประจำสหประชาติ ณ นครนิวยอร์ก)

ความสัมพันธ์ทวิภาคี
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อไมโครนีเซียมากที่สุด ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยทั้งสองประเทศได้ลงนามในความตกลง Compact of Free Association ระหว่างกัน ซึ่งสหรัฐฯ จะรับผิดชอบนโยบายด้านกลาโหมและความมั่นคง ซึ่งรวมไปถึงการมีสิทธิ์ตั้งฐานทัพสหรัฐฯ ในไมโครนีเซีย โดยแลกกับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ไมโครนีเซีย ทั้งนี้ ระหว่างปี 2529 – 2544 สหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือมูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ไมโครนีเซีย ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2547 สหรัฐฯ ตกลงจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติมแก่ไมโครนีเซียมูลค่า 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นระยะเวลา 20 ปี (ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2547 - 2567) อนึ่ง ความช่วยเหลือทางการเงินนี้ถูกนำไปใช้สนับสนุนงบประมาณของประเทศ และใช้ในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยว

บทบาทในเวทีระหว่างประเทศ
เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2556 ระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ (United Nation General Assembly – UNGA) สมัยที่ 68 ณ นครนิวยอร์ก นาย Emanuel Manny Mori ประธานาธิบดีไมโครนีเซียได้กล่าวถ้อยแถลงซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสนใจหลักของไมโครนีเซียต่อประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ วาระการพัฒนาภายหลังปี 2558 (ค.ศ. 2015) ซึ่งไมโครนีเซียย้ำการให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้นานาชาติให้ความสำคัญกับการกำหนดวาระการพัฒนาภายหลังปี 2558 (SDGs) ในเรื่องมหาสมุทรและการประมง การใช้พลังงานอย่างยั่งยืน โรคไม่ติดต่อ การพัฒนาผู้พิการ ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการต่อต้านการค้ามนุษย์ รวมถึงยังเรียกร้องให้แก้ไขวิกฤตการณ์ในซีเรียผ่านกลไกขององค์การสหประชาชาติอีกด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหพันธรัฐไมโครนีเซีย

ความสัมพันธ์ทางการเมือง
ไทยกับสหพันธรัฐไมโครนีเซียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2535 ปัจจุบันสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว มีสถานะเป็นจุดติดต่อ ไทยให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ไมโครนีเซียภายใต้กรอบ Thailand International Cooperation Program (TICP) ของ สพร. ตั้งแต่ปี 2544 โดยไมโครนีเซียส่งผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 3 คน

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับไมโครนีเซียในปี 2555 อยู่ที่ 48.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกเป็นมูลค่า 3.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไทยนำเข้าเป็นมูลค่า 44.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้า ได้แก่ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป ในปี 2555 ไทยขาดดุลการค้า 41.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สถานะ ณ ปัจจุบัน ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2556 มูลค่าการค้าอยู่ที่ 16.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 2.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 13.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยขาดดุลการค้า 11.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การหารือทวิภาคีระหว่างฝ่ายไทย-ไมโครนีเซีย

  • ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม – 1 กันยายน 2555 นายจิระชัย ปั้นกระษิณ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ได้หารือทวิภาคีกับนาย Gerson Jackson เอกอัครราชทูตไมโครนีเซียประจำฟิจิ ในวันที่ 30 สิงหาคม 2555 ที่โรงแรม Edgewater เกาะราโรตองกา หมู่เกาะคุก ระหว่างการประชุม Pacific Islands Forum (PIF) ครั้งที่ 43 และการประชุม Post-Forum Dialogue (PFD) Partners’ Meeting ครั้งที่ 24
     
  • ระหว่างวันที่ 1 – 8 กันยายน 2556 นายนพปฎล คุณวิบูลย์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้หารือทวิภาคีกับนาย Emanuel (Manny) Mori ประธานาธิบดีไมโครนีเซีย ที่กรุงมาจูโร หมู่เกาะมาร์แชลล์ ระหว่างการประชุม PIF ครั้งที่ 44 และการประชุม PFD Partners’ Meeting ครั้งที่ 25 โดยไมโครนีเซียประสงค์จะมีความร่วมมือ และเรียนรู้จากประสบการณ์ของไทยในด้านการเกษตร การประมง การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการพัฒนาด้านพลังงานทดแทน
     
  • ระหว่างวันที่ 14 – 19 พฤศจิกายน 2556 นาย Emanuel Manny Mori ประธานาธิบดีไมโครนีเซียมีกำหนดเดินทางเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม Connect Asia-Pacific 2013 และประสงค์จะพบหารือกับหน่วยงานไทยที่รับผิดชอบด้านการท่องเที่ยวและการลงทุนในต่างประเทศ เยี่ยมชมโรงงานผลิตปลาทูน่ากระป๋อง และเดินทางเยือนจังหวัดเชียงใหม่ด้วย

*****************************

สถานะ ณ ตุลาคม 2556
กองแปซิฟิกใต้ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0-2203-5000 ต่อ 13028 โทรสาร. 0-2643-5127

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

world-20131025-183957-156649.pdf