สาธารณรัฐนาอูรู

สาธารณรัฐนาอูรู

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ม.ค. 2513

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 11,176 view


สาธารณรัฐนาอูรู
Republic of Nauru

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง นาอูรูตั้งอยู่ทางตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นเกาะเดี่ยว ๆ ตั้งอยู่ใกล้กับหมู่เกาะคิริบาส
พื้นที่ 21 ตารางกิโลเมตร เขตเศรษฐกิจจำเพาะ 320,000 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง ไม่มีเมืองหลวงเป็นทางการ แต่ส่วนราชการอยู่ที่เมือง Yaren

ภูมิประเทศ นาอูรูมีลักษณะเกาะรูปวงรี เป็นหนึ่งในสามประเทศที่เป็นเกาะที่มีหินฟอสเฟต ล้อมรอบด้วยแนวประการัง พื้นที่สูงสุดของประเทศมีความสูง 65 เมตรจากระดับน้ำทะเล พื้นที่อุดมสมบูรณ์ของนาอูรูอยู่บริเวณแนวชายฝั่ง  ซึ่งสามารถพบ มะพร้าว ต้นเตย และไม้เนื้อแข็ง รวมถึงพื้นที่ล้อมรอบทะเลสาบน้ำจืด Buada บน

ที่ราบสูงของภาคกลาง ซึ่งเป็นบริเวณที่เพาะปลูกพืช เช่น กล้วย และ สับปะรด และผักต่างๆ

ภูมิอากาศ  มีอากาศแบบร้อนชื้น ประกอบด้วย 2 ฤดูกาล คือ ฤดูร้อน ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงต้นเดือกุมภาพันธ์ และอีกช่วงในเดือนมิถุนายนจนถึงกลางเดือนกันยายน ส่วน ฤดูฝนจะเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธจนถึงเดือนพฤษภาคม และอีกช่วงใน เดือนกันยนยน จนถึงเดือนพฤศจิกายน อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 26 -32 องศาเซลเซียส ตลอดปี
ประชากร 10,000 คน (ปี 2555)
ภาษา อังกฤษ และ Nauruan
ศาสนา คริสต์
หน่วยเงินตรา ดอลลาร์ออสเตรเลีย
วันชาติ 31 มกราคม (ได้รับเอกราชในปี 2511)
GDP 60 ล้าน USD (2555)

GDP per capita 6,398 ดอลลาร์สหรัฐ (2555)

Real GDP Growth ร้อยละ 4.8 (2555)

อุตสาหกรรมที่สำคัญ เหมืองแร่ฟอสเฟต ผลิตภัณฑ์มะพร้าว

ตลาดส่งออก  เกาหลีใต้ อินเดีย นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย

ตลาดนำเข้า  รัสเซีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย สหรัฐฯ 

สินค้าส่งออก  ฟอสเฟตและปลา

สินค้านำเข้า   อาหาร น้ำมัน และเครื่องจักร

การเมืองการปกครอง

ในอดีตนาอูรูเป็นประเทศภายใต้การปกครองของออสเตรเลียตั้งแต่ปี 2466-2488 ภายหลังจากได้รับเอกราชในปี 2511 นาอูรูเป็นประเทศรัฐเอกราชที่เล็กที่สุดในโลกและเป็นประเทศสาธารณรัฐที่เล็กที่สุดในโลก รวมทั้งมีสภาผู้แทนราษฎรที่เล็กที่สุดในโลกด้วย รัฐสภานาอูรูมีจำนวนสมาชิกเพียง 18 คน โดยจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกๆ 3 ปี โดยสภาผู้แทนราษฎรจะเลือกตั้งประธานาธิบดี

ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ H.E. Honorable Baron Divavesi Waqa

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คือ H.E. Honorable Baron Divavesi Waqa

สถานการณ์ทางการเมืองล่าสุด

การเมืองนาอูรูยังอยู่ในสภาวะไม่มั่นคง เนื่องจากข้อกฎหมายของนาอูรูสามารถถอดถอนประธานาธิบดีได้หากมีการอภิปรายไม่ว้วางใจและลงคะแนนเสียงถอนถอน ช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนประธานาธิบดี 3 ครั้ง  

การเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2556 โดยในการเลือกตั้งประธานาธิบดี รัฐสภานาอูรูได้เลือก นาย Baron Divavesi Waqa  ให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนาอูรูใหม่

เศรษฐกิจการค้า

นาอูรูเคยเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลกเมื่อเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เพราะนาอูรูมีแหล่งแร่ฟอสเฟตที่สามารถนามาใช้ได้เลย (readily mined phosphate) ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แต่เมื่อแร่ฟอสเฟตที่สามารถนำมาใช้ได้เลยเริ่มหมดในช่วง 15 ปีที่แล้ว นาอูรูเริ่มมีปัญหาด้านการเงิน โดยในปี 2547 นาอูรูได้ร้องขอความช่วยเหลือผ่าน Pacific Island Forum (PIF) ซึ่งผู้นำของประเทศ PIF ได้ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและการจัดระบบการบริหารภายใต้กรอบ Biketawa Declaration ซึ่งก็ทำให้สถานการณ์ทางการเงินของนาอูรูดีขึ้น แต่กระนั้นในปี 2553 นาอูรูยังเป็นหนี้มูลค่ารวมทั้งหมดประมาณ 872 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติถึง 20 เท่า

อุตสหกรรมหลักของนาอูรู ประกอบด้วย 1) อุตสาหกรรมแร่ฟอสเฟต ซึ่งทราบจากอดีตประธานาธิบดี Stephen Marcus ระหว่างแวะผ่านประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2554 ว่า นาอูรูยังมีแร่ฟอสเฟตที่สามารถทำการขุดเจาะได้อีกอย่างน้อย 20 ปี และ 2) อุตสาหกรรมการประมง โดยเฉพาะปลาทูน่า

          ปัจจุบัน นาอูรูมีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2555 มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็น 6,398 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วน การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP growth) อยู่ที่ร้อยละ 4 (ข้อมูลจาก Asian Development Bank 2013)

การต่างประเทศ

นาอูรูเป็นสมาชิกพิเศษของเครือจักรภพ (Commonwealth of Nations) มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2511 นาอูรูได้รับการยอมรับเป็นสมาชิกของสหประชาชาติในปี 2542 นอกจากนี้นาอูรูยังเป็นสมาชิกของ Pacific Island Forum (PIF) และ Western and Central Pacific Fisheries Commission (WCPFC) นาอูรูยังสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับทั้งไต้หวันและจีน โดยใช้การสถาปนาความสัมพันธ์ดังกล่าวเพื่อแลกกับความช่วยเหลือทางการเงิน

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐนาอูรู

ไทยและนาอูรูได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2548 โดยรัฐบาลนาอูรูได้เปิดสถานกงสุลใหญ่นาอูรูประจำประเทศไทยและแต่งตั้งนาย Alex Ying Jie Ke ชาวจีน สัญชาตินาอูรูเป็นกงสุลใหญ่ (อาชีพ) สถานกงสุลใหญ่นาอูรูประจำประเทศไทยเป็นกงสุลใหญ่นาอูรูแห่งเดียวในทวีปเอเชีย และนาอูรูยังเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวของประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกที่มีผู้แทนทางการทูตในไทย

จากการสอบถามนาย Corey Menke รองกงสุลใหญ่นาอูรูประจำประเทศไทยช่วงระหว่างรอรับประธานาธิบดีนาอูรูแวะผ่านประเทศไทย ในวันที่ 30 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2554 ทราบว่า ปัจจุบันมีนักศึกษานาอูรูศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยจำนวน 12 คน โดยส่วนใหญ่ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ และพัทยา และทราบว่าปัจจุบันไม่มีคนไทยอาศัยอยู่ในนาอูรู

การค้าระหว่างไทย-นาอูรูยังมีมูลค่าไม่มาก โดยข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงพาณิชย์ ปี 2555 มูลค่าการค้ารวมไทย-นาอูรู  อยู่ที่ 0.05 (ปี 2554 มูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 0.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าการค้าลดลงร้อยละ 88.94) ไทยส่งออกไปนาอูรูคิดเป็นมูลค่า 0.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยนำเข้าจากนาอูรู คิดเป็นมูลค่า 0.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้าคิดเป็นมูลค่า 0.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การหารือทวิภาคีระหว่างฝ่ายไทยและนาอูรู

ฝ่ายนาอูรู

- นาย Ludwig Scotty อดีตประธานาธิบดีนาอูรูเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 16-18 มกราคม 2548

- นาย David Adeang อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนาอูรูเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศระหว่างวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2548

- นาย David Adeang อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนาอูรูเยือนประเทศไทยเพื่อเป็นประธานเปิดสถานกงสุลใหญ่นาอูรูประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2549

- นาย Marcus Stephen อดีตประธานาธิบดีนาอูรูแวะผ่านและเยือนประเทศไทยเป็นการส่วนตัวบ่อยครั้ง โดยล่าสุดแวะผ่านประเทศไทยระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2554 โดย นางสาวพัชนี กิจถาวร รองอธิบดี กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ให้การต้อนรับที่ท่าอากาศสุวรรณภูมิ โดยประธานาธิบดีแจ้งว่า ปัจจุบันมีนักศึกษานาอูรูศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยจำนวน 12 คน โดยส่วนมากศึกษาในมหาวิทยาลัยเอกชน เช่นมหาวิทยาลัยอัสสัมชัน และมหาวิทยาสแตมฟอร์ด

ฝ่ายไทย

- นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรระหว่างเยือนนาอูรูระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 4 ธันวาคม 2547

 

*******************************************

                                                                                                                                                                                                     สถานะ ณ กรกฎาคม 2556

                       กองแปซิฟิกใต้ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0-2203-5000 ต่อ 13028 โทรสาร. 0-2643-5127 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

world-20130716-110144-225681.pdf