สาธารณรัฐปาเลา

สาธารณรัฐปาเลา

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ม.ค. 2513

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 12,881 view


สาธารณรัฐปาเลา
Republic of Palau

ข้อมูลทั่วไป

ที่ตั้ง หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือเส้นศูนย์สูตร ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของฟิลิปปินส์

พื้นที่ 458 ตารางกิโลเมตร เขตเศรษฐกิจจำเพาะ 600,900 ตารางกิลโลเมตร

เมืองหลวง กรุง Melekeok

ภูมิอากาศ มรสุมเขตร้อน มักประสบภัยจากพายุไต้ฝุ่น

ประชากร 20,956 คน (2554)

เชื้อชาติ Palauan (ระหว่างไมโครนีเซีย มาลายันและเมลานีเซียน) ร้อยละ 70 เอเชีย อาทิ ฟิลิปปินส์ จีน ไต้หวัน เวียดนาม ร้อยละ 28 และอื่นๆ ร้อยละ 2

ภาษา Palauan และอังกฤษ

ศาสนา คริสต์นิกายโรมันคาธอลิก และนิกายอื่นๆ อาทิ methodist Seventh-Day Adventist และ ศาสนาพื้นเมือง Modekngei (1 ใน 3 ของชาวปาเลานับถือ Modekngei)

หน่วยเงินตรา ดอลลาร์สหรัฐ

GDP 169.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2555)

GDP per capita 8,730 ดอลลาร์สหรัฐ (2555)

Real GDP growth ร้อยละ 4 (2555)

อุตสาหกรรมที่สำคัญ การท่องเที่ยว ประมง

สินค้าส่งออกที่สำคัญ ประมง เสื้อผ้าสำเร็จรูป สินค้าหัตถกรรม

สินค้านำเข้าที่สำคัญ เครื่องจักร อาหาร สินค้าอุตสาหกรรม

ตลาดส่งออก ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ จีน

ตลาดนำเข้า ญี่ปุ่น จีน สาธารณรัฐเกาหลี ฟิลิปปินส์ 

 

การเมืองการปกครอง

ระบบการเมืองการปกครองของปาเลามีต้นแบบจากสหรัฐอเมริกา โดยมีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยประธานาธิบดีจะดำรงตำแหน่งวาระละ 4 ปี และดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ (สภาแห่งชาติมีชื่อเรียกว่า “Olbiil Era Kelulea –OEK”) รัฐสภาของปาเลาแบ่งออกเป็น 1) สภาผู้แทนโดยมีผู้แทน 16 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจากรัฐต่างๆ ทั้ง 16 รัฐ และ 2) วุฒิสภา โดยมีผู้แทน 14 คน แบ่งตามเมืองที่กำหนดโดยสภาพภูมิศาสตร์ (geographical districts)

ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐปาเลาปัจจุบัน คือ นาย Tommy Remengesau, Jr.  ทั้งนี้ นาย Remengesau ยังดูแลด้านการต่างประเทศด้วย

สถานการณ์การเมืองปัจจุบัน

การเลือกตั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อ 6 พฤศจิกายน ปี 2555 (ค.ศ. 2012) ซึ่งนาย Tommy Remengesau, Jr. ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเหนือ นาย Johnson Toribiong อดีตประธานาธิบดี

เศรษฐกิจการค้า

ปาเลาเป็นประเทศหมู่เกาะที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและมาตรฐานชีวิตที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกด้วยกัน โดยในปี 2555 มีรายได้ประชาชาติต่อหัวถึง 8,730 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2555 ไทยมีรายได้ 5,390 ดอลลาร์สหรัฐ) อย่างไรก็ตาม ปาเลายังประสบปัญหาการกระจุกตัวของรายได้ เนื่องจากรายได้หลักของประเทศส่วนใหญ่จะมาจากการท่องเที่ยว (ปาเลามีชื่อเสียงในฐานะแหล่งดำน้ำที่มีชื่อเสียง) เกษตรกรรม การประมง และเงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาจากสหรัฐฯ ปาเลาได้รับผลกระทบน้อยมากจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ น้อยถึงน้อยมาก ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริง (real GDP) ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2556 Asian Development Bank (ADB) คาดการณ์ว่า GDP ของปาเลาจะเติบโตในอัตราร้อยละ 3 

การต่างประเทศ

ปาเลาลงนาม Compact of Free Association กับสหรัฐฯ หลังได้รับเอกราชในปี 2537 โดยสหรัฐฯ มีพันธะในการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาแก่ปาเลาจำนวน 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 15 ปีแรกหลังได้รับเอกราช อนึ่ง ปาเลามีความสัมพันธ์ทางการทูตที่ใกล้ชิดกับไต้หวัน และญี่ปุ่น 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐปาเลา

ไทยกับปาเลาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2540 โดยรัฐบาลไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมะนิลา มีเขตอาณาครอบคลุมปาเลา

การค้าระหว่างไทยกับปาเลายังมี ไม่มากนัก ในปี 2555 มูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 0.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 62.05 จากปี 2554 (ปี 2554 มีมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 0.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ไทยส่งออกไปปาเลาเป็นมูลค่า 0.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกส่วนใหญ่  เป็นผลิตภัณฑ์อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าว รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ปีนี้ไม่มีการนำเข้าจากปาเลา สินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารทะเลสดและแปรรูป

เมื่อนายประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงมะนิลาเดินทางไปร่วมงานฉลองเอกราชปาเลาเมื่อเดือนกันยายน 2554 ทราบว่า ปัจจุบันมีคนไทยอาศัยอยู่ในปาเลาจำนวน 9 คน (ชาย 1 คน และหญิง 8) ประกอบด้วยเจ้าของร้านอาหาร แรงงานรับจ้างทั่วไป และแม่บ้าน

การหารือทวิภาคี

-  นาย สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบหารือกับนาย Elias Camsek Chin รองประธานาธิบดีปาเลา ระหว่างการประชุม Post-Forum Dialogue ของ PIF เมื่อเดือน ต.ค. 2548 โดย รองประธานาธิบดี ประสงค์ที่จะรับแรงงานมีฝีมือจากประเทศไทยเพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่แรงงานของปาเลา

-  นายกุลกุมุท สิงหรา ณ อยุธยา เอกอัครราชทูต ณ กรุงมะนิลา เยี่ยมคารวะ นาย Johnson Toribiong ประธานาธิบดีปาเลา และนาย Kerai Mariur รองประธานาธิบดี และ Dr. Victor Yano รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างการเยือนปาเลาเพื่อร่วมงานฉลองเอกราช ระหว่างวันที่ 29 กันยายน – 4 ตุลาคม 2553

- นายจิระชัย ปั้นกระษิณ อธิบดีกรมอเมริกาฯ ได้หารือกับ Dr. Victor Yano รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างการประชุม Post-Forum Dialogue ครั้งที่ 23 ที่นครโอคแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ระหว่างวันที่ 5 – 10 ตุลาคม 2554 โดยปาเลาสนใจที่จะรับความช่วยเหลือจากไทยในการอบรมบุคคลากรและการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในด้านสาธารณสุข

- นายประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงมะนิลา เยี่ยมคารวะ นาย Kerai Mariur รองประธานาธิบดี และ Dr. Victor Yano รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างการเยือนปาเลาเพื่อถวายพระราชสาส์นและร่วมงานฉลองเอกราช ระหว่างวันที่ 27 กันยายน – 30 กันยายน 2554

 

***************************************

                                                                                                                                                                                                     สถานะ ณ กรกฎาคม 2556
                       กองแปซิฟิกใต้ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0-2203-5000 ต่อ 13028 โทรสาร. 0-2643-5127 E-mail : [email protected]

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

world-20130716-110310-872900.pdf