วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ม.ค. 2513
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
ปาปัวนิวกีนี
Independent State of Papua New Guinea
ที่ตั้ง ทิศตะวันตกของภูมิภาคแปซิฟิกใต้ มีพรมแดนติดกับจังหวัดปาปัวตะวันตกของอินโดนีเซีย โดยตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของเกาะ New Guinea ซึ่งเป็นเกาะเขตร้อนขนาดใหญ่ อยู่ห่างจากออสเตรเลียไปทางทิศเหนือประมาณ 160 กิโลเมตร
พื้นที่ 452,860 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะขนาดใหญ่ 3 เกาะ และเกาะเล็กๆ อีกกว่า 600 เกาะ เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone – EEZ) 3,120,000 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงพอร์ตมอร์สบี (Port Moresby) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะนิวกินี
ภูมิประเทศและภูมิอากาศ มีลักษณะเป็นภูเขาและชายฝั่งทะเล ภูมิอากาศเขตร้อน และอยู่ในเขตลมมรสุม
ประชากร 6.3 ล้านคน (2554)
ภาษา อังกฤษ (ทางการ) อังกฤษพิดจิน (Pidgin English) โมตู (Motu) และมีภาษาพื้นเมืองของเผ่าต่าง ๆ ประมาณ 715 ภาษา
ศาสนา คริสต์ นิกาย Roman Catholic ร้อยละ 22 นิกาย Lutheran ร้อยละ 16 นิกาย Protestant ร้อยละ 10 ความเชื่อพื้นเมือง ร้อยละ 34 และอื่นๆ ร้อยละ 18
หน่วยเงินตรา คีน่า (Kina) อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 2.39 คีน่า (ปี 2556)
วันชาติ 16 กันยายน (ปาปัวนิวกินีได้รับเอกราชในปี 2518)
GDP 15.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2555)
GDP per capita 2,313 ดอลลาร์สหรัฐ (2555)
Real GDP Growth ร้อยละ 7.7 (2555)
อุตสาหกรรม ประมง ทองคำ ทองแดง ปิโตรเลียม น้ำมันปาล์ม กาแฟ
สินค้าส่งออก ทอง ปิโตรเลียม ทองแดง ไม้ สินค้าเกษตร กาแฟ
ตลาดส่งออก ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จีน เยอรมนี เกาหลีใต้
สินค้านำเข้า เครื่องจักร สินค้าอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์
ตลาดนำเข้า ออสเตรเลีย จีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย
ภูมิศาสตร์และประชากร
ปาปัวนิวกินีมีลักษณะภูมิศาสตร์เป็นเทือกเขาขนาดใหญ่ และมีภูเขาและภูเขาไฟจำนวนมาก พื้นที่ราบเป็นป่าดิบชื้น และทุ่งหญ้าสะวันนา พืชสำคัญคือ มะพร้าว ปาล์ม และเตย
ปาปัวนิวกินีเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีมากที่สุดของโลก บนเกาะนิวกินีซึ่งประกอบด้วยประเทศปาปัวนิวกินีและจังหวัดปาปัวตะวันตกของอินโดนีเซียมีภาษาพูดมากกว่า 650 ภาษา และมีเพียง 350-450 ภาษาเท่านั้นที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกัน บางภาษาใช้พูดกันเฉพาะในกลุ่มชนจำนวนไม่กี่ร้อยหรือไม่กี่พันคน และไม่มีความคล้ายคลึงกับภาษาอื่นๆ ที่ใช้บนเกาะ หรือภาษาอื่นใดในโลก และเนื่องจากลักษณะภูมิศาสตร์ที่เป็นภูเขา ทำให้กลุ่มชนบางกลุ่มมีความเป็นอยู่อย่างสันโดษและไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มชนอื่นๆ ที่อยู่ห่างกันเพียงไม่กี่กิโลเมตรแม้แต่น้อย
ชาวปาปัวนิวกินีจำนวน 2 ใน 3 ส่วนนับถือศาสนาคริสต์ ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในปาปัวนิวกินี คิดเป็นร้อยละ 1 ของประชากรทั้งหมด โดยกว่าครึ่งหนึ่งเป็นชาวออสเตรเลีย ที่เหลือเป็นชาวอังกฤษ นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ และอเมริกัน
ประวัติศาสตร์
หลักฐานทางโบราณคดีระบุว่า มนุษย์เข้ามาตั้งถิ่นฐานบนเกาะนิวกินีมานานกว่า 60,000 ปี คาดว่าเป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคน้ำแข็ง (Ice Age) ต่อมา ในช่วงศตวรรษที่ 16 นักเดินเรือชาวโปรตุเกสและสเปนเป็นชาวยุโรปกลุ่มแรกที่เข้ามาในดินแดนแห่งนี้ โดยระหว่างปี 2069-2070 (ค.ศ. 1526-27) Don Jorge de Meneses ชาวโปรตุเกสได้ตั้งชื่อเกาะนี้ว่า “ปาปัว” (Papua) ซึ่งเป็นภาษามาเลย์ แปลว่า ผมหยิก ตามลักษณะเส้นผมของชนพื้นเมือง ต่อมาในปี 2088 (ค.ศ. 1545) Yngio Ortis de Retez ชาวสเปนเรียกเกาะนี้ว่า “นิวกินี” (New Guinea) เนื่องจากเห็นว่า ชนพื้นเมืองมีความคล้ายคลึงกับชนพื้นเมืองในกินี (Guinea) ในแอฟริกา
ในปี 2427 (ค.ศ. 1884) เยอรมนีได้เข้ายึดภาคตะวันออกเหนือของเกาะ รวมทั้งเกาะบูเกนวิลล์ (Bougainville) และในปี 2531 (ค.ศ. 1888) สหราชอาณาจักรได้เข้ายึดครองในส่วนใต้ของเกาะ เรียกว่า British New Guinea ส่วนเยอรมนีเข้าครอบครองส่วนเหนือของเกาะอย่างสมบูรณ์ในปี 2442 (ค.ศ. 1899) และเรียกส่วนนี้ว่า German New Guinea จากนั้นในปี 2457 (ค.ศ. 1914) กองทัพออสเตรเลียได้เข้ายึดครองส่วนที่เป็น German New Guinea และปกครองเกาะทั้งสองส่วนจนกระทั่งปี 2484 (ค.ศ. 1941) ญี่ปุ่นได้บุกเข้ายึดและเป็นผู้ปกครองเกาะจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 2488 (ค.ศ. 1945) จากนั้น ในปี 2492 (ค.ศ. 1949) ปาปัวและนิวกินีตกอยู่ในภาวะทรัสตีของสหประชาชาติภายใต้ The Papua and New Guinea Act โดยมีออสเตรเลียเป็นผู้ดูแล และเรียกดินแดนนี้ว่า Territory of Papua and New Guinea ต่อมา ในปี 2515 (ค.ศ. 1972) ได้เปลี่ยนชื่อเป็นปาปัวนิวกินี (Papua New Guinea) พร้อมทั้งจัดการเลือกตั้งคณะรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรัฐมนตรีคือ Sir Micheal Somare ซึ่งเป็นผู้นำในการเรียกร้องเอกราชจากออสเตรเลีย และทำให้ปาปัวนิวกินีได้รับเอกราชในปี 2518 (ค.ศ. 1975)
ระบบรัฐสภาเป็นแบบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาเดียว เรียกว่า “รัฐสภาแห่งชาติ” (National Parliament) ปัจจุบันมีสมาชิก 109 คน โดย 89 คนมาจากการเลือกตั้งทั่วไป (open electorates) และที่เหลืออีก 20 คน มาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด (provincial electorates) วาระ 5 ปี
รูปแบบการปกครอง แบ่งเป็น 3 ระดับคือ ระดับชาติ (National) ระดับจังหวัด (Provincial) และระดับท้องถิ่น (Local) รัฐบาลท้องถิ่น (Provincial Government) ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง โดยรัฐบาลกลางจะแทรกแซงกิจการด้านการบริหาร การคลัง และอื่นๆ เนื่องจากรัฐบาลท้องถิ่น ส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมที่จะดำเนินการโดยอิสระ
สถานการณ์การเมืองล่าสุด
ในช่วง 2 -3 ปีที่ผ่านมา ปาปัวนิวนีมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในรอบเกือบ 10 ปี โดยในปี 2554 นาย Peter O’Neill อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวง Treasury and Finance ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนที่ของ นาย Sam Abal รักษาการนายกรัฐมนตรี (แทน Sir Michael Somare ที่รับการผ่าตัดรักษาโรคหัวใจที่สิงคโปร์) ซึ่งนับเป็นการยุติการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 36 ปีของ Sir Somare ต่อมามีจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2555 พรรค People’s National Congress ของ นาย O’Neill ก็ได้รับชัยชนะ และนาย O’Neill ได้รับเลือกจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 (สมัยแรก 2554 – 2555)
ปาปัวนิวกินีเป็นประเทศที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ ทองแดง ทอง และน้ำมัน เป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของรายได้จากการส่งออก แม้จะเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกแต่เศรษฐกิจของปาปัวนิวกินีมีแนวโน้มที่สดใส เนื่องจากการลงทุนของต่างชาติอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และ เหมืองแร่
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของปาปัวนิวกินีเติบโตในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูงลำดับต้นของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และคาดการณ์ว่า ในปี 2556 เศรษฐกิจของจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย GDP อาจขยายตัวประมาณร้อยละ 6.5 – 7 เนื่องจากปาปัวนิวกินีมีทรัพยากรธรรมชาติ และแร่ธาตุมากมาย สามารถดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนของต่างชาติในอุตสาหกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม นอกจากนี้ มูลค่าสินค้าส่งออกที่สำคัญของปาปัวนิวกินียังมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในตลาดโลก อาทิเช่น แร่ทอง น้ำมันดิบ ทองคำแท่ง เป็นผลให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโตและพัฒนาไปในอย่างต่อเนื่อง (ข้อมูล Economist Intelligence Unit: 2556)
ปาปัวนิวกินีมีโครงการก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas-LNG) ซึ่งบริษัท Exxon Mobil Corporation ของสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยบริษัทหุ้นส่วนต่างๆ อาทิ บริษัท Oil Search Ltd (ออสเตรเลีย) Santos Ltd (ออสเตรเลีย) และ Nippon Oil Corp (ญี่ปุ่น) ได้เข้าไปลงทุนในปาปัวนิวกินี มีมูลค่าประมาณ 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ การก่อสร้างเริ่มต้นในเดือนกันยายน 2552 และกำหนด แล้วเสร็จในปี 2557 โดยจะก่อสร้างโรงงานแยกก๊าซธรรมชาติในจังหวัด Southern Highlands และในจังหวัดทางภาคตะวันตกของปาปัวนิวกินี ซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยก๊าซธรรมชาติ และผลผลิตจะถูกส่งผ่านท่อไปยังโรงงานที่ตั้งอยู่ใกล้กรุงพอร์ตมอร์สบี เพื่อจำหน่ายไปทั่วโลก
ในด้านประมง ปาปัวนิวกินีได้ลงนาม Interim Economic Partnership Agreement (IEPA) กับ สหภาพยุโรป (EU) ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการที่ตั้งโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแปรรูปสุกในปาปัวนิวกินีให้สามารถส่งสินค้าไปยัง EU โดยปราศจากภาษี (ในขณะที่ไทยต้องเสียภาษี 24%) โดยไม่ต้องแจ้งที่มา (origin) ของสัตว์น้ำ ทั้งนี้ปาปัวนิวกินี เป็นประเทศเดียวที่ลงนาม IEPA กับ EU ในขณะนี้ ทำให้ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคหมู่เกาะแปซิฟิก โดยเฉพาะฟิจิ กับ Solomon Islands เริ่มกดดันตนเองที่จะทำความตกลงดังกล่าวกับ EU ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื่องจาก EU ตั้งหลักการไว้ว่าภายในปี 2554 หากไม่มีความคืบหน้าเรื่องความร่วมมือกับหมู่เกาะแปซิฟิก ก็จะถอนตัวออกจากภูมิภาคนี้ (เพราะ EU มีความพยายามที่จะริเริ่มความร่วมมือเป็นรูปธรรมกับหมู่เกาะแปซิฟิกหลายประเทศมาประมาณ 10 ปีแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้า)
ปาปัวนิวกินีมีความสามารถในการผลิตปลาทูน่าได้ 300,000 ตัน/ปี เนื่องจากมีโรงงานทูน่าเพียง 3 แห่ง แต่การมี IEPA กับ EU น่าจะกระตุ้นให้เกิดการตั้งโรงงานปลาทูน่าในปาปัวนิวกินีเพิ่มขึ้นเพื่อรับสิทธิประโยชน์ในการส่งออกไปยังตลาด EU จึงคาดว่า ภายใน 3-5 ปี อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกทูน่าแปรรูปของไทย
ไทยและปาปัวนิวกินีสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2519 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รามีเขตอาณาครอบคลุมปาปัวนิวกินี ปัจจุบันนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ ได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงพอร์ตมอร์สบี้ (ถิ่นพำนัก ณ กรุงแคนเบอร์รา) ขณะนี้มีชุมชนไทยในปาปัวนิวกินีประมาณ 45 คน มีทั้งหญิงไทยที่ติดตามสามีชาวออสเตรเลียไปทำงานที่ปาปัวนิวกินี ช่างนวดแผนโบราณและสปา ผู้จัดการบริษัทขุดเจาะก๊าซและน้ำมัน และแรงงานชาวไทย นอกจากนี้ มีนักธุรกิจไทย 2 คน ที่เมือง Lae ประกอบธุรกิจค้าข้าวและเครื่องจักรกล (ส.ค. 2554)
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนปาปัวนิวกินีอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 17-19 เมษายน 2539
นายโลอานี เฮเนา (Loani Henao) ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ไทยประจำ ปาปัวนิวกินี
นายเวียลิ วากิ (His Excellency Veali Vagi) ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตปาปัวนิวกินีประจำประเทศไทย (ถิ่นพำนัก ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์)
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ปาปัวนิวกินีประจำประเทศไทย
ปาปัวนิวกินีถือเป็นประเทศในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ที่มีความสำคัญในลำดับต้นๆ สำหรับไทย ปาปัวนิวกินีมีศักยภาพในการเป็นแหล่งวัตถุดิบที่มีศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมไทย และเป็นตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคของไทย รวมทั้งมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ซึ่งสามารถเป็นประตูของไทยไปสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ โดยในปี 2555 มูลค่าการค้ารวม ไทย-ปาปัวนิวกินี มูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 359.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2554 มูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 269.96ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.34) ไทยส่งออก 259.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 100.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า 159.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อนึ่ง ปาปัวนิวกินีเป็นแหล่งเมล็ดพันธุ์ปาล์มน้ำมันสำหรับการผลิตไบโอดีเซลของไทย และเป็นแหล่งนำเข้าปลาทูน่าที่สำคัญของไทย โดยสินค้าที่ไทยส่งออกไปมากที่สุดคือ ข้าว รองลงมาคือ เหล็กและผลิตภัณฑ์ จากเหล็ก
ปาปัวนิวกินียังมีความร่วมมือที่ดีกับไทยในเวทีระหว่างประเทศมาโดยตลอด เป็นประเทศคู่เจรจาในกรอบ Pacific Islands Forum (PIF) โดยไทยให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ ปาปัวนิวกินีภายใต้กรอบ Annual International Training Courses (AITC) ของ สพร. ซึ่งปาปัวนิวกินีเคยเข้าร่วม ได้แก่หลักสูตร Enhancing Entrepreneurship in SME Development and Export Consortia และ Leadership in Competitive Enterprise โดยตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ไทยได้มุ่งสานความสัมพันธ์กับประเทศในแปซิฟิกใต้ เพื่อผลในการดำเนินนโยบายทางการทูตพหุภาคี
การเยือนปาปัวนิวกินีของฝ่ายไทย
- นายพิชัย รัตตกุล รองนายกรัฐมนตรีเยือนปาปัวนิวกินีอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 5 - 8 สิงหาคม 2527
- ร้อยตรี ประพาส ลิมปะพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนปาปัวนิวกินี ระหว่างวันที่ 8 - 25 กุมภาพันธ์ 2528
- นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรีไปเยือนในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรี เพื่อร่วมงานฉลองเอกราชครบ 10 ปี วันที่ 16 กันยายน 2528
- ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนปาปัวนิวกินี ระหว่างวันที่ 9 - 11 สิงหาคม 2537
- นายสรจักร เกษมสุวรรณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศนำคณะนักธุรกิจประมงไทยเดินทางเยือนปาปัวนิวกินี ระหว่างวันที่ 5 - 8 มิถุนายน 2547 เพื่อแสวงหาลู่ทางในการขยายการค้า/การลงทุน โดยเฉพาะการทำประมง ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากฝ่ายปาปัวนิวกินี และทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้มีการจัดทำความตกลงด้านประมงระหว่างกัน
- นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนปาปัวนิวกินีเพื่อเข้าร่วมประชุม Post-Forum Dialogue ของ Pacific Islands Forum เมื่อเดือน ต.ค. 2548 และได้เข้าเยี่ยมคารวะ Sir Michael Somare โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องการเตือนภัยสึนามิ ปัญหาโรคเอดส์ และตำแหน่ง UNSG
- นายเกรียงศักดิ์ กิตติชัยเสรี เอกอัครราชทูต ณ กรุงพอร์ตมอร์สบี้ (ถิ่นพำนัก ณ กรุงแคนเบอร์รา) เข้าเยี่ยมคารวะ Sir Michael Ogio ผู้สำเร็จราชการปาปัวนิวกินี นาย Peter O’Neill นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินี นาย Ano Pala รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศปาปัวนิวกินี นาย Michael Maue ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นาย Sylvester Pokjam ผู้อำนวยการ National Fishery Authority และ Archbishop Mgr Francisco Montencillo Padilla, Apostolic Nuncio คณบดีคณะทูต ช่วงการเดินทางเยือนปาปัวนิวกินีเพื่อยื่นพระราชสาส์นระหว่างวันที่ 29-31 ส.ค. 2554
- น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเยือนปาปัวนิวกินีอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 24 – 25 มี.ค. 2556 โดยได้พบหารือข้อราชการกับ Sir Michael Ogio ผู้สำเร็จราชการปาปัวนิวกินี และได้หารือต็มคณะ (Plenary) กับนาย Peter O’Neill นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินีและคณะรัฐมนตรีของปาปัวนิวกินี
การเยือนไทยของฝ่ายปาปัวนิวกินี
- นาย Tukape Masani รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและการปศุสัตว์เยือนไทย เพื่อเยี่ยมชมสถาบันวิจัยของไทยเมื่อเดือนเมษายน 2541
- นาย Kilroy Genia สมาชิกสภาและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนาย Loani Henao กงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำ Port Moresby ได้พาคณะเยือนไทยเพื่อหารือการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและขอรับความช่วยเหลือด้านการปลูกข้าว ระหว่างวันที่ 25 - 29 พฤศจิกายน 2541
- Rt. Hon. Sir Michael Somare นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินีเยือนไทยในลักษณะ Working visit ระหว่างวันที่ 18 - 22 ตุลาคม 2546 ก่อนเข้าร่วมการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 11 โดยได้เข้าพบและหารือข้อราชการกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และพลเอก ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
- นาย Ben Semri รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประมงและคณะ ได้นำเดินทางมาดูงานด้านประมงในประเทศไทย ตามคำเชิญของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา ในเดือนกันยายน 2547 ซึ่งนอกจากจะช่วยผลักดันความร่วมมือด้านประมงแล้ว การหารือระหว่างนาย Semri และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ในขณะนั้น) ยังส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายแสวงหาลู่ทางความร่วมมือด้านอื่นๆ อาทิ การปลูกข้าว การเพาะเลี้ยงกุ้ง และปาล์มน้ำมัน
- นาย Veali Vagi ออท.ปทท. (ถิ่นพำนัก ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์) และนาย Ivan Pomeleu Managing Director, Investment Promotion Agency of Papua New Guinea (IPA) เข้าคารวะและหารือกับ นายประวิตร์ ชัยมงคล รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างการสัมมนาผลการเยือนปาปัวนิวกินี : ลู่ทางและโอกาสการค้าและการลงทุน ในวันที่ 21 ก.ค. 2554 ณ โรงแรม Pullman Kingpower
- นาย Leo Dion รองนายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินีเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม Asia-Pacific Water Summit ครั้งที่ 2 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 19 – 20 พ.ค. 2556 โดยนาย Dion ได้พบหารือแบบ Corridor Meeting กับ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในวันที่ 20 พ.ค. 2556
- คณะกระทรวงยุติธรรมปาปัวนิวกินีเยือนไทยเพื่อศึกษาระบบราชทัณฑ์และโทษประหารชีวิตของไทย ณ เรือนจำบางขวาง และเรือนจำพิเศษธนบุรี ระหว่างวันที่ 1 – 7 ส.ค. 2556
การหารือระหว่างฝ่ายไทยและปาปัวนิวกินีในเวทีอื่น
- นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้หารือทวิภาคีกับนาย Sam Abal รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ การค้า และตรวจคนเข้าเมืองของปาปัวนิวกินี ระหว่างการเข้าร่วมการประชุม APEC ณ ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2552
- น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้หารือทวิภาคีกับนาย Peter O’Neill นายกรัฐมนตรีของปาปัวนิวกินีในวันที่ 9 ก.ย. 2555 ช่วงระหว่างการประชุม APEC ณ นครวลาดิวอสต็อก สหพันธรัฐรัสเซีย
- น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้หารือทวิภาคีกับนาย Peter O’Neill นายกรัฐมนตรีของปาปัวนิวกินีในวันที่ 7 - 8 ต.ค. 2556 ช่วงระหว่างการประชุม APEC ณ เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
*************************************
สถานะ ณ กันยายน 2556
กองแปซิฟิกใต้ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. 0-2203-5000 ต่อ 13028 โทรสาร. 0-2643-5127
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **