วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ม.ค. 2553
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
สหภาพคอโมโรส
Union of the Comoros
ที่ตั้ง คอโมโรสเป็นหมู่เกาะซึ่งประกอบด้วย 3 เกาะใหญ่ คือ Grande Comore (Ngazidja), Anjouan (Nzwani) และ Moheli (Mwali) ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดียทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา ตั้งอยู่ในช่องแคบโมซัมบิกระหว่างโมซัมบิกและมาดากัสการ์
พื้นที่ 2,170 ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง กรุงโมโรนี (Moroni)
ประชากร 0.77 ล้านคน (2555)
ภูมิอากาศ แบบ Tropical อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 27 -35 องศาเซลเซียสฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม
ภาษาราชการ ภาษาฝรั่งเศส อารบิก และ Shikomoro
ศาสนา อิสลาม (สุหนี่) 98% คริสต์(โรมันคาทอลิก) 2%
หมู่เกาะคอโมโรสจัดการปกครองในลักษณะสหพันธรัฐ แต่ละเกาะมีสิทธิ์ในการปกครองตนเองในระดับหนึ่ง
ฝ่ายบริหาร มีประธานาธิบดีเป็นประมุข จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปทีละเกาะ โดยการเลือกตั้งทั่วไป ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี
ฝ่ายนิติบัญญัติ ระบบรัฐสภาของคอโมโรสมี 2 สภา คือ วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฏร โดยสมาชิกวุฒิสภา มีจำนวน 15 คน อยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรมีจำนวน 43 คน อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี
ฝ่ายตุลาการ ประกอบด้วยศาลสูง โดยผู้พิพากษาศาลสูง 2 คน มาจากการได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี อีก 2 คน มาจากการแต่งตั้งของสภาผู้แทนราษฏร และอีก 3 คน เป็นผู้แทนจากเกาะ Grande Comore (Ngazidja), Anjouan (Nzwani) และ Moheli (Mwali) เกาะละ 1 คน
ปัจจุบัน การเมืองคอโมโรสเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนธันวาคม 2553 (ค.ศ. 2010) ผ่านไปโดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรง โดยในการเลือกตั้งครั้งดังกล่าว นาย Ikililou Dhoinine จากเกาะ Moheli (Mwali) ได้รับชัยชนะ เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากนาย Ahmed Abdallah Sambi ประธานาธิบดีคนก่อนหน้า จากเกาะ Anjouan (Nzwani)
คอโมโรสจัดเป็นประเทศยากจนที่สุดประเทศหนึ่ง เนื่องจากอัตราการเพิ่มของประชากรอยู่ในระดับสูง ระดับการศึกษาต่ำ และขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ รายได้หลักของประเทศมาจากภาคเกษตรกรรมแบบยังชีพ เช่น การประมง การล่าสัตว์และป่าไม้ นอกจากนี้ คอโมโรสยังพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างชาติทั้งในรูปของความช่วยเหลือทางการเงินและความช่วยเหลือทางวิชาการ เป็นจำนวนมาก
ประชากรจำนวน 2 ใน 3 ของประเทศอาศัยอยู่ในชนบทและทำการเพาะปลูก โดยพืชหลักที่นิยมปลูกได้แก่มะพร้าวและกล้วย ส่วนพืชส่งออกที่สำคัญ คือ วานิลา กานพลู และพืชที่ใช้สกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยสำหรับเป็นหัวเชื้อน้ำหอม สำหรับภาคอุตสาหกรรมในคอโมโรสเน้น
การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร อาทิ การกลั่นน้ำหอม การผลิตเฟอร์นิเจอร์ และเริ่มนีนโยบายส่งเสริมธุรกิจด้านการท่องเที่ยว สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวและอาหาร สินค้าบริโภค ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ซีเมนต์ และอุปกรณ์การขนส่งคมนาคม
ประเทศคู่ค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี สิงคโปร์ ตุรกี และสหรัฐฯ
ส่วนประเทศนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ฝรั่งเศส สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แอฟริกาใต้ ปากีสถาน เคนยา จีน และอินเดีย
คอโมโรสให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือโดยเฉพาะฝรั่งเศส จีน และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ถึงแม้ว่าจะมีความตึงเครียดในความสัมพันธ์กับฝรั่งเศส เนื่องจากหมู่เกาะ คอโมโรสได้พยายามทวงคืนเกาะมาโยตจากฝรั่งเศส และเสียงส่วนใหญ่จากคณะมนตรีความมั่นคง แห่งสหประชาชาติ (UNSC) สนับสนุนให้หมู่เกาะคอโมโรสปกครองเกาะมาโยต แต่ฝรั่งเศสได้ออกเสียงคัดค้าน (veto) ในที่ประชุม UNSC มาโดยตลอด นอกเหนือจากประเด็นเกาะมาโยต คอโมโรสมีความสัมพันธ์ที่ดีกับฝรั่งเศสทั้งในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยรวม
สำหรับจีนได้เข้ามามีอิทธิพลในทวีปแอฟริกามากขึ้นเรื่อยๆ และคอโมโรสเป็นประเทศที่จีนสนใจ โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมการประมงเพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในมหาสมุทรอินเดียและด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้า นอกจากนี้ จีนยังสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่คอโมโรสด้วย
รัฐบาลคอโมโรสมีนโยบายกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับกลุ่มประเทศมุสลิม โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลอิหร่าน และจากนโยบายนี้ส่งผลให้ประเทศตะวันออกกลาง อาทิ คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมทั้งอิหร่านเข้ามาลงทุน ตลอดจนให้ความช่วยเหลือทางการเงินให้แก่คอโมโรสมากขึ้น
ในเวทีระหว่างประเทศคอโมโรสเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติและหน่วยงานสหประชาชาติอื่นๆ อาทิ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development - UNCTAD) องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization - UNESCO) องค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นสมาชิกในองค์กรระดับภูมิภาค ที่สำคัญ ได้แก่ สหภาพแอฟริกา (African Union) คณะกรรมาธิการมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Commission - IOC) รวมทั้งองค์การการประชุมอิสลาม (Organization of the Islamic Conference - OIC)
ความสัมพันธ์ทั่วไป
ไทยกับคอโมโรสได้สถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกันเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2529 (ค.ศ. 1986) โดยฝ่ายไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี มีเขตอาณาครอบคลุมคอโมโรส ส่วน คอโมโรสยังไม่ได้มอบหมายให้ สถานเอกอัครราชทูตของตนแห่งใดมีเขตอาณาครอบคลุมไทย แต่มีสถานกงสุลใหญ่ ณ สิงคโปร์ เป็นจุดติดต่อกับรัฐบาลไทย
ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
ในอดีต ผู้แทนฝ่ายคอโมโรสเคยเดินทางเยือนไทยหลายครั้ง เพื่อเจรจาซื้อข้าวจากรัฐบาลไทย อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา การค้าระหว่างไทยกับคอโมโรสยังมีน้อย โดยไทยเป็นฝ่ายส่งออกสินค้าไปยังคอโมโรสเป็นส่วนใหญ่ และนำเข้าสินค้าจากคอโมโรสในอัตราที่น้อยมาก
ในปี 2554 (ค.ศ. 2011) การค้าระหว่างไทยกับคอโมโรสมีมูลค่า 3.73ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก 3.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่มีรายงานสินค้านำเข้า สินค้าส่งออกของไทคอโมโรส ได้แก่ ปูนซีเมนต์ ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ เครื่องนุ่งห่ม น้ำตาลทราย
ความตกลงทวิภาคี - ยังไม่มีการจัดทำความตกลงระหว่างกัน
การเยือนระดับสูง – ไม่ปรากฏข้อมูลการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างกัน
***********************
มิถุนายน 2555
กองแอฟริกา กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา โทร. 0-2643-5047-8
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **